Second World War; World War II; W.W.II (1939-1945)

สงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๘๘)

สงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นการรบระหว่างประเทศมหาอำนาจอักษะ (Axis Powers) กับมหาอำนาจพันธมิตร (Allied Powers) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๕ เป็นมหาสงคราม (Great War) และสงครามเบ็ดเสร็จ (Total War) ที่หลายประเทศทั่วโลกเข้ามาเกี่ยวข้องและนำมาซึ่งการสูญเสียและความหายนะที่ร้ายแรงมากกว่าสงครามครั้งใด ๆ ในประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นเมื่อเยอรมนีบุกโปแลนด์เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ และใน ค.ศ. ๑๙๔๐ สงครามก็ขยายขอบเขตไปทั่วยุโรป เมื่อญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรของเยอรมนีและอิตาลีโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่อ่าวเพิร์ล มลรัฐฮาวายในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ สหรัฐอเมริกาจึงประกาศสงครามต่อญี่ปุ่นเยอรมนีซึ่งเป็นพันธมิตรของญี่ปุ่นก็ประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา สงครามโลกครั้งที่ ๒ ในยุโรปยุติลงเมื่อเยอรมนียอมแพ้เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ และ สิ้นสุดอย่างเป็นทางการเมื่อผู้แทนฝ่ายทหารของเยอรมนีลงนามในสัญญายอมแพ้โดยปราศจากเงื่อนไขเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ซึ่งทำให้จักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* ล่มสลายลง ส่วนสงครามในแปซิฟิกหรือสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลงเมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ จำนวนพลเรือนและทหารทั่วโลกที่เสียชีวิตในสงครามครั้งนี้รวมกันกว่า ๖๐ ล้านคน เหตุการณ์ซึ่งทำให้พลเรือนเสียชีวิตจำนวนมหาศาลในระหว่างสงคราม คือ การทำลายล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust)* ชาวยิวในยุโรปของเยอรมนีและการทิ้งระเบิดปรมาณูของสหรัฐอเมริกาที่เมืองฮิโระชิมะ (Hiroshima) และเมืองนะงะซะกิ (Nagasaki) ของญี่ปุ่น

 สงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายทำสงครามเพื่อขยายอำนาจของเยอรมนีโดยมีอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* เป็นผู้นำนับตั้งแต่ฮิตเลอร์ก้าวสู่อำนาจทางการเมืองในปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ เขาเริ่มดำเนินการรวบอำนาจในการปกครองประเทศระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๓-๑๙๓๔ จนพรรคนาซีเป็นพรรคการเมืองเดียวที่มีอำนาจเด็ดขาดและฮิตเลอร์เป็นผู้นำแห่งไรค์หรือฟือเรอร์ (Führer)* ในเวลาอันสั้นฮิตเลอร์ทำให้เยอรมนีฟื้นตัวจากความหายนะของประเทศที่แพ้สงครามเป็น “เยอรมนีใหม่” (New Germany) ที่มีเสถียรภาพทางการเมืองและสังคมและขยายตัวทางเศรษฐกิจ ก่อนหน้านั้นใน ค.ศ. ๑๙๓๒ เยอรมนีเข้าร่วมในการประชุมลดกำลังอาวุธ (Disarmament Conference)* กับประเทศต่าง ๆ ๖๐ ประเทศ ณ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ และเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการทำงทหารที่บังคับใช้กับเยอรมนีตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* และขอให้เยอรมนีมีอาวุธไว้ในครอบครองได้ แต่ประสบความล้มเหลว ซึ่งมีผลให้เยอรมนีถอนตัวจากการประชุมลดกำลังอาวุธในปีต่อมา รวมทั้งลาออกจากการเป็นสมาชิกองค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ในปีเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในต้น ค.ศ. ๑๙๓๔ เยอรมนีก็ร่วมลงนามกับโปแลนด์ในกติกาสัญญาไม่รุกรานกัน (Nonaggression Pact) เพื่อให้โปแลนด์คลายความหวาดระแวงในรัฐบาลนาซี ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างเกียรติภูมิของเยอรมนีในฐานะประเทศที่ส่งเสริมสันติภาพซึ่งช่วยทำให้นานาประเทศในยุโรปลดความหวาดระแวงเยอรมนีลง ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๔-๑๙๓๖ ฮิตเลอร์ดำเนินนโยบายทางการทูตแบบสองหน้าโดยประกาศว่าเยอรมนีต้องการสันติภาพและจะใช้วิธีการสันติในการแก้ไขสนธิสัญญาแวร์ซาย แต่เยอรมนีก็เพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศและเร่งเสริมสร้างกำลังรบและกองทัพให้เข้มแฃ็ง

 ในต้น ค.ศ. ๑๙๓๕ ประชาชนในแคว้นซาร์ (Saar) ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมถ่านหินในการปกครองของสันนิบาตชาติลงประชามติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นขอกลับรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนี ความสำเร็จดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นเพราะการโหมโฆษณาชวนเชื่อของพรรคนาซีว่าด้วยความเข้มแข็งของเยอรมนีใหม่ ซึ่งทำให้ชื่อเลียงและเกียรติภูมิของฮิตเลอร์เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น ฮิตเลอร์จึงเห็นเป็นโอกาสให้มีการเกณฑ์ทหารขึ้นเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม โดยอ้างว่าฝรั่งเศสได้ขยายเวลาการประจำการของทหารและอังกฤษกำลังดำเนินแผนการรบทางอากาศ เยอรมนีจึงจำเป็นที่ต้องเสริมกำลังเพื่อป้องกันประเทศด้วยการจัดตั้งกองกำลังทางอากาศและเกณฑ์ทหารเข้าประจำการรวม ๓๖ กองพลมีจำนวนทั้งหมดประมาณ ๕๕๐,๐๐๐ คน ประเทศมหาอำนาจตะวันตกได้ทำหนังสือประท้วงและในกลางเดือนเมษายนอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลีได้จัดการประชุมที่เมืองสเตรซา (Stresa Conference) ทางตอนเหนือของอิตาลีและออกคำประกาศสเตรซา (Stresa Declaration) ร่วมกันประณามการละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซายของเยอรมนีและยืนยันว่าจะไม่ยอมให้เยอรมนีละเมิดข้อตกลงใด ๆ ที่จะเป็นอันตรายต่อสันติภาพของยุโรปอีก ในเดือนตุลาคมเมื่ออิตาลีบุกเอธิโอเปียเพื่อขยายอาณานิคมเข้าไปในแอฟริกาตะวันออกและนำไปสู่การเกิดสงครามอิตาลี-เอธิโอเปีย (Italo-Ethiopian War ค.ศ. ๑๙๓๕-๑๙๓๖)* ประเทศตะวันตกต่างประท้วงและประณามการรุกรานของอิตาลี องค์การสันนิบาตชาติมีมติให้ควํ่าบาตรอิตาลีทางเศรษฐกิจแต่ประสบความล้มเหลว เยอรมนีเป็นประเทศเดียวที่ดำเนินนโยบายเป็นกลางแต่ก็สนับสนุนอิตาลีอย่างลับ ๆ ด้านกำลังอาวุธซึ่งทำให้ทั้ง ๒ ประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน หลังอิตาลียึดครองเอธิโอเปียได้สำเร็จในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ อิตาลีก็หันมากระชับความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับเยอรมนี

 ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ เยอรมนีเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกที่กรุงเบอร์ลินและประสบความสำเร็จอย่างมาก สื่อต่างประเทศประโคมข่าวว่าโอลิมปิก ค.ศ. ๑๙๓๖ เป็นการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการจัดโอลิมปิกสมัยใหม่ขึ้นนับตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๙๖ เป็นต้นมา และให้สมญาว่าเป็นกีฬาใต้ร่มธงสวัสติกะซึ่งทำให้เยอรมนีได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกและเป็นที่ประจักษ์ว่าชาวเยอรมันส่วนใหญ่พอใจกับการปกครองของนาซีและต่างเทิดทูนและยกย่องฮิตเลอร์อย่างมากด้วยในช่วงที่เยอรมนีเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกนั้น เยอรมนีเคลื่อนกำลังสู่ไรน์แลนด์ (Rhineland) ซึ่งเป็นเขตปลอดทหารทางฝั่งซ้ายของแม่นํ้าไรน์ด้วยข้ออ้างว่าฝรั่งเศสกับสหภาพโซเวียตได้ร่วมกันลงนามในกติกาฝรั่งเศส-โซเวียต (Franco-Soviet Pact) เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๖ การกระทำของเยอรมนีนับเป็นการละเมิดข้อตกลงระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศสในสนธิสัญญาโลคาร์โน (Treaty of Locarno)* ค.ศ. ๑๙๒๕ ที่ระบุให้ไรน์แลนด์เป็นเขตกันชนและเขตปลอดทหารในการคํ้าประกันแนวเขตแดนของทั้ง ๒ ประเทศ การยึดครองไรน์แลนด์นับเป็นความสำเร็จและชัยชนะทางการทูตครั้งใหญ่ของฮิตเลอร์ เพราะฝรั่งเศสเพิ่งได้รัฐบาลชุดใหม่และมุ่งเน้นการแก้ปัญหาภายในโดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจมากกว่าปัญหาการเมืองภายนอกประเทศทั้งเห็นว่าแนวมาจิโน (Maginot Line)* ที่เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๐ จะใช้ป้องกันการบุกของเยอรมนีในกรณีเกิดสงครามในวันข้างหน้าได้

 เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๙)* ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ เยอรมนีร่วมมือกับอิตาลีในการสนับสนุนและช่วยเหลือนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco)* ผู้นำกลุ่มชาตินิยมซึ่งต้องการโค่นล้มอำนาจสาธารณรัฐประชาธิปไตยสเปน เยอรมนีส่งกำลังทหาร ๑๖,๐๐๐ คนและอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนหนึ่งช่วยฝ่ายฟรังโก สงครามครั้งนี้เปิดโอกาสให้เยอรมนีได้ทดลองอาวุธและเทคนิคใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน รถถัง และปืนใหญ่ นับเป็นครั้งแรกในยุโรปที่เครื่องบินข้าศึกมุ่งโจมตีฝ่ายพลเรือนในแนวหลังโดยตรง การสนับสนุนอย่างเข้มแข็งของเยอรมนีและอิตาลีทำให้กองทัพฝ่ายนายพลฟรังโกมีชัยชนะในที่สุดสงครามครั้งนี้ยังทำให้เยอรมนีและอิตาลีซึ่งสนับสนุนกันและกันในการจะจัดระเบียบใหม่ (New Order) ให้แก่ยุโรปลงนามร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดในกติกาสัญญาสันติภาพแกนร่วมโรม-เบอร์ลิน (Rome-Berlin Axis)* เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ เยอรมนียังรับรองว่าดินแดนรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นเขตอิทธิพลของอิตาลีและอิตาลีก็รับรองว่ายุโรปตะวันออกคือเขตอิทธิพลของเยอรมนี แกนร่วมโรม-เบอร์ลินยังทำให้นโยบายโดดเดี่ยวเยอรมนีของประเทศตะวันตกล้มเหลวและทำให้ฮิตเลอร์เริ่มหันมาเสริมสร้างกำลังอาวุธและกองทัพเพื่อเตรียมก่อสงคราม

 ในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน เยอรมนีได้ลงนามกับญี่ปุ่นในกติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์น (Anti-Comintern Pact)* โดยทั้ง ๒ ประเทศจะร่วมกันต่อต้านลัทธิบอลเชวิคเพื่อป้องกันการขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์และในข้อตกลงลับท้ายกติกาสัญญาระบุว่าหากประเทศใดประเทศหนึ่งทำสงครามกับสหภาพโซเวียต อีกประเทศจะดำเนินนโยบายเป็นกลาง อิตาลีได้เข้าร่วมกติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์นเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ การเข้าร่วมของอิตาลีทำให้แกนร่วมโรม-เบอร์ลินในเวลาต่อมาขยายตัวเป็นแกนร่วมโรม-เบอร์ลิน-โตเกียว (Rome-Berlin-Tokyo Axis) ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๗ และเป็นการประสานผลประโยชน์ระหว่างมหาอำนาจทั้งในยุโรปและเอเชีย อิตาลี เยอรมนี และญี่ปุ่นในเวลาต่อมาจึงได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจอักษะ

 แม้เยอรมนีจะประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายทางการทูตและการทหารระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๘ ทั้งสินค้าอุตสาหกรรมผลิตได้ในปริมาณสูงและอัตราการว่างงานลดน้อยลง แต่ฮิตเลอร์ตระหนักดีว่าเยอรมนียังไม่พร้อมทั้งทางเศรษฐกิจและทางทหารในการจะขยายอำนาจเพราะการรีบเร่งติดอาวุธส่งผลกระทบหลายด้าน เป็นต้นว่า การขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคการขาดดุลการคลังอย่างมหาศาล และการขาดดุลทางการค้ายัลมาร์ ชัคท์ (Hjalmar Schacht)* ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงเสนอแนวทางแก้ปัญหาด้วยการให้เพิ่มงบประมาณการป้องกันประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป การลดค่าเงินมาร์คลงให้อยู่ในอัตราเดียวกับเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินปอนด์ และเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างประเทศอุตสาหกรรมรวมทั้งเรียกร้องการคืนอาณานิคมโพ้นทะเลของเยอรมนีที่อยู่ในอารักขาขององค์การสันนิบาตชาติและประเทศสัมพันธมิตร แต่ฮิตเลอร์ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวและในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๖ เขาแต่งตั้งแฮร์มันน์ เกอริง (Hermann Göring)* แกนนำคนสำคัญของพรรคนาซีเป็นหัวหน้าควบคุมแผน ๔ ปี (Four Year Plan) เพื่อให้เยอรมนีสามารถพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจโดยมุ่งการผลิตทุกประเภทเพื่อสนับสนุนการทำสงคราม

 ฮิตเลอร์เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของเยอรมนีขั้นสุดท้ายคือการขยายดินแดนทางตะวันออก (Lebensraum) เพื่อสร้างจักรวรรดิภาคพื้นทวีปที่สามารถเลี้ยงตัวได้ทางเศรษฐกิจโดยใช้ทรัพยากรของดินแดนตะวันออกโดยเฉพาะยูเครนของสหภาพโซเวียตซึ่งอุดมสมบูรณ์และที่ราบกว้างใหญ่ในโปแลนด์เลี้ยงดูจักรวรรดิไรค์และสนับสนุนการสร้างกำลังอาวุธโดยรัฐบาลไม่ต้องเพิ่มการใช้จ่ายทางการคลังหรือเพิ่มภาษี พื้นที่และดินแดนทางตะวันออกซึ่งไม่เพียงจะใช้เลี้ยงดูประชากรของจักรวรรดิไรค์เท่านั้น แต่ยังจะใช้ระบายพลเมืองที่กำลังล้นประเทศไปตั้งรกรากในดินแดนนั้นด้วย ด้วยความคิดดังกล่าวฮิตเลอร์จึงเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพและกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๗ ณ ทำเนียบรัฐบาลเพื่อหารือเกี่ยวกับแผนการขยายดินแดน การติดอาวุธ และการเติบโตทางเศรษฐกิจในการประชุมกว่า ๔ ชั่วโมงครั้งนี้เคานต์ฟรีดิช ฮอสบัค (Friedich Hossbach) นายทหารคนสนิทของฮิตเลอร์เข้าร่วมประชุมด้วย แม้จะไม่มีการจดรายงานการประชุมแต่หลังการประชุมครั้งนี้สิ้นสุดลง ฮอสบัคได้เขียนบันทึกรายงานการประชุมขึ้นจากความทรงจำของเขา ซึ่งต่อมาเรียกว่า บันทึกช่วยจำฮอสบัค (Hossbach Memorandum)* ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ บันทึกนี้กลายเป็นเอกสารชิ้นสำคัญที่สุดในการพิจารณาความผิดของฮิตเลอร์และเหล่าผู้นำกองทัพในการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trials ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๔๙)* โดยถือว่าเป็นเอกสารที่ใช้เป็น “คู่มือในการก่อสงคราม”

 หลังการประชุมไม่นานนัก ฮิตเลอร์ยุบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม เขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพและปลดนายทหารระดับสูงที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกับนโยบายของเขาออกจากตำแหน่ง ฮิตเลอร์จัดตั้งกองบัญชาการสูงสุดของกองทัพเยอรมัน (High Command of the Armed Forces) ขึ้นแทนกระทรวงสงครามและแต่งตั้งนายพลวิลเฮล์ม ไคเทิล (Wilhelm Keitel)* ที่จงรักภักดีต่อเขาและเป็นนายทหารที่เขาไว้วางใจมากให้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองบัญชาการทหารสูงสุด ฮิตเลอร์จะออกคำสั่งโดยผ่านคณะทำงานที่ไคเทิลเป็นหัวหน้าและไคเทิลสามารถเข้าร่วมในการประชุมคณะรัฐมนตรีได้ ในปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ ฮิตเลอร์ก็มีคำสั่งให้กองทัพเตรียมการบุกเชโกสโลวะเกียโดยใช้แผนที่เรียกว่า “ปฏิบัติการสีเขียว” (Operation Green) แต่ปัญหาการดำเนินงานทำให้ต้องเลื่อนแผนการบุกออกไปก่อนและฮิตเลอร์ก็หันไปสนใจเรื่องการผนวกออสเตรีย

 ในต้น ค.ศ. ๑๙๓๘ เยอรมนีเห็นว่าสถานการณ์ทั่วไปทั้งในประเทศและนอกประเทศเหมาะสมที่จะดำเนินการรวมออสเตรียเข้ากับเยอรมนี ทั้งฮิตเลอร์และพรรคนาซีได้รับความนิยมชมชอบจากประชาชนเพิ่มมากขึ้น กองทัพและเหล่านักธุรกิจอุตสาหกรรมก็เป็นฐานสนับสนุนที่สำคัญของฮิตเลอร์เนื่องจากการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มปริมาณสูงขึ้นและเศรษฐกิจเติบโตอย่างมาก อังกฤษ ซึ่งมีอาร์เทอร์ เนวิลล์ เชมเบอร์เลน (Arthur Neville Chamberlain)* เป็นนายกรัฐมนตรีได้แสดงท่าทีให้เห็นว่าจะยอมโอนอ่อนต่อเยอรมนีในการผนวกดินแดนที่มีประชากรเยอรมันอาศัยอยู่ในต่างแดนเข้ากับเยอรมนีหากมีการดำเนินการอย่างละมุนละม่อม ฝรั่งเศสซึ่งยังคงเผชิญกับปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศก็ยอมรับนโยบายผ่อนปรนของอังกฤษเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ เยอรมนีจึงเห็นว่าบรรยากาศการเมืองระหว่างประเทศเอื้อประโยชน์ต่อการผนวกออสเตรีย

 ก่อนหน้าที่เยอรมนีจะดำเนินการผนวกออสเตรียเยอรมนีสนับสนุนพวกนาซีออสเตรียให้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจใน ค.ศ. ๑๙๓๔ แม้พวกนาซีซึ่งปลอมเป็นทหารออสเตรียจะสามารถบุกเข้าทำเนียบรัฐบาลและสังหารเองเงิลแบร์ท ดอลล์ฟุสส์ (Engelbert Dollfuss)* นายกรัฐมนตรีจนเสียชีวิต แต่รัฐบาลก็สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้และปราบปรามพวกนาซีอย่างเด็ดขาดออสเตรียซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับอิตาลีจึงชอให้อิตาลีช่วยปกป้องเอกราชของออสเตรีย อย่างไรก็ตาม เมื่อเยอรมนีและอิตาลีทำความตกลงกันได้เกี่ยวกับการจัดระเบียบใหม่ในยุโรปซึ่งนำไปสู่การลงนามร่วมกันในแกนร่วมโรม-เบอร์ลิน ค.ศ. ๑๙๓๖ ออสเตรียก็ถูกโดดเดี่ยวและเผชิญกับปัญหาการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาตินิยมและนาซีออสเตรียในการจะรวมออสเตรียเข้ากับเยอรมนีความสำเร็จในด้านการต่างประเทศของเยอรมนีซึ่งทำให้เยอรมนีมีสถานภาพเท่าเทียมกับมหาอำนาจตะวันตกอื่น ๆ ยิ่งทำให้พวกนาซีออสเตรียต้องการเร่งเรื่องการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี (Anschluss)* โดยเร็วมากขึ้นอาทูร์ ไซส์ซิงควาร์ท (Arthur Seyss-lnquart)* ผู้นำฝ่ายสายกลางพรรคนาซีออสเตรียซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสภาแห่งรัฐออสเตรีย (Austrian state Council) ก็สนับสนุนเรื่องการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนีและกดดันนายกรัฐมนตรีคูร์ท ฟอน ชุชนิกก์ (Kurt von Schuschnigg)* ให้เจรจากับเยอรมนีแต่ชุชนิกก์ยืนหยัดที่จะขัดขวางเรื่องอันชลุสส์ อย่างไรก็ตาม ชุชนิกก์ในเวลาต่อมาก็ถูกเยอรมนีกดดันให้ลาออก

 หลังชุชนิกก์ลาออก ไซส์ซิงควาร์ทได้เป็นนายกรัฐมนตรีออสเตรียและคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ก็เป็นสมาชิกพรรคนาซีออสเตรีย ไซส์ซิงควาร์ทได้ส่งโทรเลขในวันที่ ๑๒ มีนาคมเชิญกองทัพเยอรมันเข้าสู่ออสเตรีย ชาวออสเตรียส่วนมากชื่นชมยินดีกับการยาตราทัพของกองทัพเยอรมันเข้าสู่กรุงเวียนนาพร้อมกับฮิตเลอร์ ส่วนชาวออสเตรียจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยก็อพยพออกนอกประเทศ ในวันต่อมาเยอรมนีส่งร่างกฎหมายว่าด้วยการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนีโดยมีสถานภาพเป็นแคว้นหนึ่งในจักรวรรดิไรค์ที่เรียกชื่อว่า “ออสมาร์ค” (Ostmark) ให้ออสเตรียพิจารณาไซส์ซิงควาร์ทเห็นชอบกับร่างกฎหมายที่ส่งมาและผลักดันให้รัฐสภาผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ถูกต้องเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ นานาประเทศในยุโรป ต่างเพิกเฉยต่อเรื่องการรวมออสเตรียเข้ากับเยอรมนีมีเม็กซิโกเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่คัดด้านเรื่องอันชลุสส์และเรียกร้องให้องค์การสันนิบาตชาติพิจารณาปัญหา ดังกล่าวด้วยข้ออัางว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงในสนธิสัญญาแซงแชร์แมง (Treaty of Saint Germain)* ค.ศ. ๑๙๑๙ และเป็นการคุกคามสันติภาพของยุโรป แต่ข้อเรียกร้องของเม็กซิโกก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าใดนัก ต่อมาในวันที่ ๑๐ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๘ มีการจัดลงประชามติเรื่องการรวมออสเตรียเข้ากับเยอรมนี ชาวออสเตรียร้อยละ ๙๙.๗๕ เห็นชอบ ออสเตรียจึงเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิไรค์จนถึง ค.ศ. ๑๙๔๕ และเป็นเสมือนประตูที่จะเปิดให้เยอรมนีก้าวไปสู่ยุโรปตะวันออกเอียงใต้ทั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เยอรมนีจะขยายอำนาจต่อไปในเชโกสโลวาเกีย

 ความสำเร็จของการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนีในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ ทำให้เยอรมนีเริ่มรณรงค์ให้ชาวเยอรมันซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยประมาณ ๓ ล้านคน ในซูเดเทนลันด์ (Sudetenland) ในเชโกสโลวะเกียก่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อรวมเข้ากับเยอรมนี คอนราด เฮนไลน์ (Konrad Henlein) ผู้นำพรรคซูเดเทน-เยอรมัน (Sudeten-German Party) ซึ่งนิยมลัทธินาซีและชื่นชมฮิตเลอร์จึงรับคำสั่งจากฮิตเลอร์ให้เคลื่อนไหวกดดันประธานาธิบดีเอดุอาร์ด เบเนช (Eduard Beneš)* แห่งเชโกสโลวะเกียให้สิทธิการปกครองตนเองแก่ซูเดเทนลันด์รวมทั้งให้เสรีภาพในการแสดงออกแก่พรรคการเมืองที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ลัทธินาซี เบเนชพยายามแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยการเพิ่มจำนวนผู้แทนชาวซูเดเทนเชื้อสายเยอรมันในรัฐสภามากขึ้นและให้ความเสมอภาคทางสังคมและการศึกษาแก่พลเมืองเชื้อสายเยอรมันเท่าเทียมกับชาวเช็กและสโลวัก แต่นโยบายดังกล่าวก็ยังไม่เป็นที่พอใจแก่พรรคชูเดเทน-เยอรมันซึ่งยังคงต้องการอำนาจการปกครองตนเองมากขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๘ ฮิตเลอร์จึงเสนอปัญหาซูเดเทนลันด์ให้สภาไรค์ชตาก (Reichstag) พิจารณาโดยอ้างว่าพลเมืองเชื้อสายเยอรมันซึ่งถูกข่มเหงรังแกกำลังคาดหวังความช่วยเหลือจากเยอรมนีในการต่อต้านชาวเช็กที่กดชี่

 ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ เกิดการปะทะกันบริเวณชายแดนและตำรวจเช็กยิงชาวซูเดเทนเชื้อสายเยอรมันเสียชีวิต ๒ คน สื่อมวลชนเยอรมันพากันโหมกระพือข่าวเพื่อประณามความทารุณโหดร้ายในซุเดเทนลันด์เยอรมนีจึงส่งกำลังทหารไปประจำการใกล้พรมแดนเช็กออสเตรีย เชโกสโลวะเกียตอบโต้ด้วยการส่งกำลังทหาร ๔๐๐,๐๐๐ คน ไปป้องกันพรมแดน อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสซึ่งเป็นพันธมิตรทางทหารกับเชโกสโสวะเกียในกลุ่มความตกลงอนุภาคี (Little Entente)* แสดงท่าทีให้เห็นว่าพร้อมจะสนับสนุนเชโกสโลวะเกีย ทั้งขู่ว่ายูโกสลาเวียและโรมาเนียซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มความตกลงอนุภาคีอาจเข้าร่วมสนับสนุนด้วย เยอรมนีจึงถอนกำลังออกจากพรมแดนในช่วงเวลาเดียวกันเยอรมนีก็สนับสนุนให้ชาวซูเดเทนเชื้อสายเยอรมันที่ได้รับการฝึกอบรมจากหน่วยเอสเอส (SS)* เยอรมันเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเช็กที่กรุงปราก (Prague) ด้วยวิธีการรุนแรงทั้งยังให้จัดชุมนุมเดินขบวนในซูเดเทนลันด์ด้วย รัฐบาลเช็กต้องใช้กำลังทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ฮิตเลอร์ยังเชิญเฮนไลน์มาพบเขาที่กรุงเบอร์ลินและให้เฮนไลน์กดดันรัฐบาลเช็กมากขึ้นเพื่อให้มอบอำนาจการปกครองตนเองแก่ซูเดเทนลันด์ ในปลายเดือนพฤษภาคมฮิตเลอร์เรียกประชุมลับเหล่านายทหารชั้นสูงและแจ้งเจตจำนงของเขาที่จะผนวกเชโกสโลวะเกียเข้ากับเยอรมนีด้วยการใช้กำลังทหารเข้ายึดครอง เขากำหนดแผนปฏิบัติการสีเขียวซึ่งจัดทำโดยนายพลวิลเฮล์ม ไคเทิลเพื่อเตรียมบุกยึดครองโบฮิเมีย (Bohemia) และโมเรเวิย (Moravia) ของเชโกสโลวะเกียในวันที่ ๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๘

 สถานการณ์สงครามที่ตั้งเค้าได้สร้างความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศและองค์การสันนิบาตชาติก็ประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่ เกิดขึ้น ในเดือนมิถุนายน เชมเบอร์เลนนายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ให้ไวส์เคานต์รันซิมันแห่งด็อกซฟอร์ด (Runciman of Doxford) เป็นผู้แทนไปเจรจากับประธานาธิบดีเบเนชเพื่อหาทางแก้ไขวิกฤตการณ์ซึ่งฝรั่งเศสเห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว เบเนชซึ่งตระหนักว่ามหาอำนาจตะวันตกสนับสนุนฝ่ายซูเดเทน-เยอรมันจึงยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของเฮนไลน์และผู้แทนฝ่ายซูเดเทนลันด์เกือบทุกข้อทั้งจะให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ซูเดเทนลันด์ด้วยอย่างไรก็ตาม ฮิตเลอร์สั่งให้เฮนไลน์ยกเลิกการทำความตกลงกับรัฐบาลเช็กทั้งหมดและเรียกร้องให้ซูเดเทนลันด์รวมเข้ากับเยอรมนี ขณะเดียวกันเยอรมนีก็ปลุกปั่นชาวเยอรมันในซูเดเทนลันด์ให้ก่อการจลาจลและก่อวินาศกรรมซึ่งมีผู้เสียชีวิต ๑๖๐ คน จนรัฐบาลเช็กต้องประกาศกฎอัยการศึกในซูเดเทนลันด์และเรียกทหารเข้าประจำการ

 ระหว่างวันที่ ๕-๑๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๘ พรรคนาซีจัดการชุมนุมที่เมืองนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Rallies)* ซึ่งเป็นการชุมนุมประจำปีที่ใหญ่ที่สุดเรียกว่า “การชุมนุมของเยอรมนีใหญ่” (Rally of Greater Germany) ฮิตเลอร์เน้นเรื่องการสร้างชาติเยอรมันที่ยิ่งใหญ่และยืนยันว่าเยอรมนีพร้อมที่จะเข้าช่วยชาวซูเดเทนเยอรมันที่กำลังถูกกดขี่ทั้งกล่าวโจมตีรัฐบาลเช็กอย่างเผ็ดร้อนรวมทั้งประกาศที่จะใช้สงครามเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา ในช่วงเวลาเดียวกันเฮนไลน์ชี่งรับคำสั่งจากฮิตเลอร์ก็ยื่นคำขาดให้ประธานาธิบดีเบเนชยกเลิกกฎอัยการศึก ถอนกำลังทหารและตำรวจออกจากซูเดเทนลันด์และให้ตอบรับคำขาดภายในเที่ยงคืนของวันที่ ๑๑ กันยายน แต่ประธานาธิบดี เบเนชปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามและสั่งจับกุมเฮนไลน์และผู้ที่สนับสนุนเขา เฮนไลน์จึงหนีภัยมาที่กรุงเบอร์ลินสถานการณ์ระหว่างประเทศที่เขม็งเกลียวทำให้เชมเบอร์เลนตัดสินใจเดินทางมาพบฮิตเลอร์ที่เมืองแบร์ชเทสกาเดินเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายนเพื่อเจรจาเรื่องซูเดเทนลันด์และหาทางหลีกเลี่ยงการเกิดสงคราม ฮิตเลอร์ยืนกรานกับเชมเบอร์เลนว่าซูเดเทนลันด์ต้องรวมเข้ากับเยอรมนีโดยเร็วมิฉะนั้นเยอรมนีจะก่อสงคราม ฮิตเลอร์ยอมให้เชมเบอร์เลนกลับไปหารือกับคณะรัฐบาลที่กรุงลอนดอนและกำหนดการเจรจากันอีกครั้งที่เมืองบาดโกเดสแบร์ก (Bad Godesberg) ในวันที่ ๒๒ กันยายนแม้รัฐบาลอังกฤษจะมีความคิดเห็นแตกแยกเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแต่นายกรัฐมนตรีเอดูอาร์ ดาลาดีเย (Edouard Daladier)* แห่งฝรั่งเศสซึ่งเผชิญปัญหาการเมืองภายในประเทศอย่างหนักก็สนับสนุนเรื่องการรวมซูเดเทนลันด์เข้ากับเยอรมนี

 ในช่วงที่รัฐบาลเช็กยังไม่ได้ให้คำตอบข้อเรียกร้องของอังกฤษและฝรั่งเศส มัคซิม มัคซีโมวิช ลิวีนอฟ (Maksim Maksimovich Litvinov)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโซเวียตซึ่งสนับสนุนแนวความคิดการประกันความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security)* ในการป้องกันสงครามและการรักษาระเบียบระหว่างประเทศก็กล่าวปราศรัยในที่ประชุมขององค์การสันนิบาตชาติเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายนว่าด้วยความพร้อมของสหภาพโซเวียตที่จะปกป้องเชโกสโลวะเกียในกรณีที่ฝรั่งเศสซึ่งเป็นภาคีกติกาสัญญาป้องกันร่วมกัน (Mutual Defence Pact ค.ศ. ๑๙๓๕) จะร่วมดำเนินการด้วย ลิวีนอฟยังโจมตีอังกฤษและฝรั่งเศสในการหลีกเลี่ยงปัญหาการตั้งเค้าของสงครามที่เป็นอยู่ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดสงครามใหญ่ในวันข้างหน้าอย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสซึ่งไม่ต้องการให้เกิดสงครามและกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปก็ยังไม่พร้อมที่จะปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของสหภาพโซเวียต การนิ่งเฉยของฝรั่งเศสและท่าทีของอังกฤษจึงมีส่วนทำให้รัฐบาลเช็กในท้ายที่สุดยอมยกซูเดเทนลันด์ส่วนที่มีชาวเยอรมันส่วนใหญ่อาศัยอยู่แก่เยอรมนีและนายกรัฐมนตรีมิลาน ฮอจา (Milan Hodza) แห่งเชโกสโลวะเกียประกาศลาออกจากตำแหน่ง ในช่วงเวลาเดียวกัน การชุมนุมต่อต้านเยอรมนีของชาวเช็กก็ก่อตัวขึ้นที่กรุงปรากและขยายตัวอย่างรวดเร็วในวงกว้าง กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลให้ปกป้องศักดิ์ศรีของประเทศจากผู้ข่มขู่คุกคามและประณามนโยบายของอังกฤษและฝรั่งเศส

 ฮิตเลอร์ซึ่งต้องการซูเดเทนลันด์ทั้งหมดยังเพิ่มข้อเรียกร้องให้มีการพิจารณาปัญหาชนกลุ่มน้อยชาวโปลและฮังการีในเชโกสโลวะเกียด้วยโดยให้ยกไซลีเซียตอนใต้แก่โปแลนด์และรูเมเนีย (Rumania) แก่ฮังการี หากเชโกสโลวะเกียปฏิเสธ เยอรมนีจะเคลื่อนกำลังข้ามพรมแดนเข้ายึดครองซูเดเทนลันด์ภายในวันที่ ๑ ตุลาคม เชมเบอร์เลนจึงนำข้อเรียกร้องของฮิตเลอร์มาหารือกับฝรั่งเศสและเชโกสโลวะเกียอีกครั้ง เขายอมที่จะปฏิบัติตามความต้องการของฮิตเลอร์แต่คณะรัฐบาลส่วนใหญ่ต่อต้านเชมเบอร์เลนจึงตกลงกับดาลาดีเยว่าอังกฤษจะสนับสนุนฝรั่งเศสในกรณีที่ฝรั่งเศสสนับสนุนเชโกสโลวะเกีย อย่างไรก็ตาม เชโกสโลวะเกียปฏิเสธข้อเรียกร้องของฮิตเลอร์และในวันที่ ๒๓ กันยายน รัฐบาลเช็กชุดใหม่ซึ่งมีนายพลแยน ซิโรวี (Jan Syrový) เป็นนายกรัฐมนตรีก็ประกาศระดมพลทั่วประเทศ สหภาพโซเวียตประกาศสนับสนุนรัฐบาลเช็กและเตรียมส่งกำลังทหารเข้าช่วยเหลือแต่ประธานาธิบดีเบเนชพยายามหาทางออกด้วยการประวิงเวลาที่จะตอบรับคำขาดของเยอรมนี

 ในช่วงเวลาที่ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศกำลังใกล้จะถึงจุดแตกหัก ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เดลาโน รูสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกาและเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำอิตาลีซึ่งต้องการหลีกเลี่ยงการเกิดสงครามในยุโรปก็เสนอแนะให้ฮิตเลอร์จัดการประชุม ๔ ประเทศมหาอำนาจเพื่อหาทางแก้ไขความขัดแย้งเรื่องซูเดเทนลันด์ ฮิตเลอร์ ยอมรับข้อเสนอและนำไปสู่การประชุมที่เมืองมิวนิก (Munich Conference)* ในวันที่ ๒๙ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๘ ผู้เข้าประชุมประกอบด้วยฮิตเลอร์ ดาลาดีเย เชมเบอร์เลน มุสโสลีนี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของแต่ละฝ่าย เช่น คอนสแตนติน ฟอน นอยรัท (Constantin von Neurath)* โยอาคิม ฟอน ริบเบนทรอพ (Joachim von Ribbentrop)* และแฮร์มันน์ เกอริงจากเยอรมนี เคานต์กาเลียซโซ เชียโน (Galeazzo Ciano)* จากอิตาลี และดักลาส ฮูม (Douglas Home)* จากอังกฤษ สหภาพโซเวียตและเชโกสโลวะเกียไม่ได้รับเชิญให้เข้าประชุมด้วย ผู้นำ ๔ ชาติมหาอำนาจต่างมีมติเห็นชอบในความตกลงเรื่องซูเดเทนลันด์และร่วมลงนามกันในความตกลงมิวนิก (Munich Agreement)* ซึ่งนับเป็นชัยชนะทางการทูตครั้งใหญ่ของเยอรมนี

 ความตกลงมิวนิกเปิดทางให้เยอรมนีสามารถกำหนดแนวนโยบายยุทธศาสตร์ทางทหารในยุโรปซึ่งทำให้ฮิตเลอร์กลายเป็นผู้มีอำนาจควบคุมยุโรปกลางในที่สุดในต้น ค.ศ. ๑๙๓๙ เยอรมนีกดดันให้รัฐบาลเช็กให้อำนาจการปกครองตนเองแก่ชาวสโลวักและรูเมเนียซึ่งอยู่ทางตะวันออกสุดของประเทศ ในวันที่ ๑๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ รัฐบาลสโลวักซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนีจึงประกาศแยกตัวเป็นรัฐอิสระเรียกชื่อว่าสโลวาเกีย ในวันเดียวกันฮิตเลอร์ก็เชิญเอมิล ฮาชา (Emil Hacha)* ประธานาธิบดีเช็กไปกรุงเบอร์ลินและบีบบังคับให้เขาลงนามยินยอมให้เชโกสโลวะเกียเข้าร่วมกับเยอรมนี ในวันที่ ๑๕ มีนาคม กองทัพเยอรมนีได้ยาตราทัพเข้าสู่กรุงปรากและเข้ายึดครองโบฮีเมียและโมเรเวียซึ่งเป็นดินแดนส่วนที่เหลือของเชโกสโลวะเกีย ในเดือนเดียวกันเยอรมนีเรียกร้องให้โปแลนด์ คืนเมืองดานซิก (Danzig)* หรือกดานสก์ (Gdansk)*


ซึ่งเป็นเสรีนครใต้อาณัติองค์การสันนิบาตชาติรวมทั้งฉนวนโปแลนด์ (Polish Corridor) แก่เยอรมนีเพื่อแลกเปลี่ยนการคํ้าประกันพรมแดนด้านตะวันออกของโปแลนด์โดยเยอรมนีสัญญาว่าจะสนับสนุนโปแลนด์ให้ได้ดินแดนบางส่วนของยูเครน (Ukraine) เป็นการชดเชยแต่โปแลนด์ปฏิเสธ ในขณะเดียวกันเยอรมนีก็บีบบังคับให้ลิทัวเนียคืนเมืองท่าเมเมล (Memel) ที่ลิทัวเนียได้รับตามข้อตกลงในสนธิสัญญาแวร์ซายแก่เยอรมนีได้สำเร็จ

 การยึดครองเชโกสโลวะเกียซึ่งเป็นการละเมิดความตกลงมิวนิกและนโยบายก้าวร้าวของเยอรมนีทำให้อังกฤษตระหนักถึงความล้มเหลวของนโยบายเอาใจอักษะประเทศ (Appeasement Policy)* และการหักหลังของฮิตเลอร์ อังกฤษจึงยกเลิกนโยบายเอาใจอักษะประเทศหันมาต่อต้านเยอรมนี อังกฤษรื้อฟื้นการเกณฑ์ทหารและออกพระราชบัญญัติราชการทหารแห่งชาติ (National Service Act) ทั้งเริ่มระดมพลซึ่งรวมทั้งฝรั่งเศสด้วยอังกฤษยังทำความตกลงกับโปแลนด์เพิ่มเติมในกติกาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (Pact of Mutual Assistance) เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๙ เยอรมนีตอบโต้ด้วยการประกาศล้มเลิกข้อตกลงนารีระหว่างอังกฤษกับเยอรมนี (Anglo-German Naval Agreement) ค.ศ. ๑๙๓๕ และกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างเยอรมนีกับโปแลนด์ ค.ศ. ๑๙๓๔ ขณะเดียวกันฮิตเลอร์ก็เตรียมแผนบุกโปแลนด์เพราะเชื่อมั่นว่าทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสจะไม่ต่อต้านเยอรมนีเหมือนเช่นกรณีเชโกสโลวะเกีย ฮิตเลอร์กำหนดบุกโปแลนด์ในต้นเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ โดยใช้แผนที่มีชื่อรหัสว่า “ปฏิบัติการสีขาว” (Operation White) ซึ่งมีเป้าหมายทำลายกำลังทัพโปแลนด์ การเข้าควบคุมเส้นพรมแดนและยึดเมืองดานซิก โยเซฟ เพาล์ เกิบเบิลส์ (Joseph Paul Goebbels)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงภูมิปัญญาสาธารณชนและการโฆษณาประชาสัมพันธ์แห่งจักรวรรดิไรค์ (Reich Ministry for Public Enlightenment and Propaganda) จึงเริ่มประโคมข่าวปลุกระดมยั่วยุประชาชนด้วยการสร้างเรื่องว่าชาวเยอรมันในโปแลนด์ถูกข่มเหงรังแกต่าง ๆ นานา และเรียกร้องให้ชาวเยอรมันในโปแลนด์ตอบโต้และก่อสถานการณ์ขึ้นเพื่อเยอรมนีจะใช้เป็นข้ออ้างเข้าแทรกแซง

 การตอบโต้ของเยอรมนีต่ออังกฤษและโปแลนด์ทำให้สหภาพโซเวียตเชื่อว่าเยอรมนีมีแผนก่อสงครามสตาลินจึงให้มัคซิม ลิวีนอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโซเวียตชี่งสนับสนุนแนวความคิดการประกันความมั่นคงร่วมกันในการรักษาสันติภาพระหว่างประเทศเจรจากับอังกฤษและฝรั่งเศสเพื่อจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรทางทหารต่อต้านเยอรมนี แต่อังกฤษหน่วงเหนี่ยวการเจรจาส่วนหนึ่งเป็นเพราะสหภาพโซเวียตกำหนดเงื่อนไขการร่วมมือมากเกินไปเป็นต้นว่าให้คํ้าประกันเอกราชของสามรัฐบอลติก (Baltic States)* และสิทธิที่โซเวียตจะส่งทหารเข้าไปในดินแดนโปแลนด์และอื่น ๆ สหภาพโซเวียตจึงเห็นว่าฝ่ายประเทศตะวันตกขาดความจริงใจ การเจรจาจึงไม่ก้าวหน้า ต่อมา สหภาพโซเวียตเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจากลิวีนอฟเป็นเวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช โมโลตอฟ (Vyacheslav Mikhaylovich Molotov)* ซึ่งต่อต้านแนวคิดการประกันความมั่นคงร่วมกัน โมโลตอฟได้เปิดการเจรจากับเยอรมนีและนำไปสู่การตกลงในสนธิสัญญาทางการค้าร่วมกันเป็นเวลา ๗ ปี เมื่อ วันที่ ๑๙ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ อีก ๑ สัปดาห์ต่อมา ในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ สหภาพโซเวียตก็ลงนามความตกลงทางทหารกับเยอรมนีในสนธิสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างเยอรมนีกับสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (Treaty of Nonaggression between Germany and the Union of Soviet Socialist Republics) หรือเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่ากติกาสัญญานาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Pact)* หรือกติกาสัญญาฮิตเลอร์-สตาลิน (Hitler-Stalin Pact)* หรือกติกาสัญญาริบเบนทรอพ-โมโลตอฟ (Ribbentrop-Molotov Pact)*

 กติกาสัญญานาซี-โซเวียตกำหนดว่าทั้ง ๒ ประเทศ จะไม่รุกรานและก่อสงครามกันเป็นเวลา ๑๐ ปี และจะวางตัวเป็นกลางหากฝ่ายหนึ่งถูกโจมตีโดยประเทศที่สาม กติกาสัญญาฉบับนี้ยังมีพิธีสารลับพ่วงท้ายซึ่งแบ่งเขตอิทธิพลในยุโรประหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตโดยแบ่งโปแลนด์ระหว่างกันและสหภาพโซเวียตได้เข้าครอบครองเอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย และฟินแลนด์ สหภาพโซเวียตคาดหวังว่ากติกาสัญญาฉบับนี้จะเป็นการซื้อเวลาให้สหภาพโซเวียตสามารถปรับปรุงกองทัพให้เข้มแข็งเพื่อป้องกันการขยายอำนาจของเยอรมนี ส่วนเยอรมนีก็พอใจที่สามารถดำเนินการบุกโปแลนด์และประเทศยุโรปตะวันตกอื่น ๆ ได้ โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตและแนวรบด้านตะวันออก

 หลังการลงนามกติกาสัญญานาซี-โซเวียต ได้ ๑ สัปดาห์ เยอรมนีเคลื่อนกำลังไปบริเวณพรมแดนด้านตะวันตกของโปแลนด์ และสร้างสถานการณ์ด้วยการก่อจลาจลบริเวณพรมแดน ทหารหน่วยเอสเอสท้องถิ่นซึ่งแต่งเครื่องแบบทหารโปลบุกโจมตีสถานีวิทยุกระจาย


เสียงของเยอรมันที่เมืองไกลวิทซ์ (Gleiwitz) ซึ่งห่างจากพรมแดนโปแลนด์ ๘ กิโลเมตร การโจมตีเกิดขึ้นในขณะที่สถานีวิทยุกำลังออกอากาศและมีการนำนักโทษจากค่ายกักกันที่แต่งเครื่องแบบทหารเยอรมันที่ถูกยิงเสียชีวิตมาทิ้งไว้ในบริเวณเกิดเหตุ สื่อสิ่งพิมพ์เยอรมันโหมกระพือข่าวการบุกทำร้ายทหารเยอรมันของทหารโปล ฮิตเลอร์จึงใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นข้ออ้างบุกโจมตีโปแลนด์ เขาสั่งยกเลิกการชุมนุมประจำปีที่เมืองนูเรมเบิร์กอย่างกะทันหันในวันที่ ๓ สิงหาคม ในเช้าตรู่ของวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ ซึ่งเดิมเป็นวันกำหนดเปิดการชุมนุมที่นูเรมเบิร์ก กองทหารเยอรมันเคลื่อนกำลังบุก โปแลนด์ทางพรมแดนตะวันตก อังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งคํ้าประกันเอกราชของโปแลนด์จึงประกาศสงครามกับเยอรมนีอย่างไม่เต็มใจนักเมื่อวันที่ ๓ กันยายน และนำไปสู่การเกิดสงครามระหว่างประเทศ ในเวลาอันสั้นสงครามก็ขยายตัวไปทั่วยุโรป

 เยอรมนีใช้ยุทธวิธีทำสงครามแบบสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg)* ในการบุกโจมตีโปแลนด์ การบุกเริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๐๔.๔๕ นาฬิกาของวันที่ ๑ กันยายนโดยเรือรบชเลสวิก-โฮลชไตน์ (Schlewig-Holstein) ซึ่งเดินทางมาเชื่อมความสัมพันธ์และทอดสมอที่เมืองท่ากดานสก์ ก่อนหน้านั้นได้เปิดฉากระดมยิงป้อมที่เวสเตอร์แพลต (Westerplatte) ที่อยู่ใกล้เคียง อีกไม่กี่นาทีต่อมา กองกำลังทางอากาศรวม ๑,๔๐๐ เครื่อง ทหาร ๔๘ กองพล และเป็นยานเกราะ ๖ กองพลก็บุกเข้ามาจากทั้ง ๓ ด้าน คือ เยอรมันตะวันออก ปรัสเซียตะวันออก และสโลวาเกียเพื่อทำลายเส้นทางคมนาคมสื่อสารและสนามบิน แม้กองทัพโปลจะต่อสู้อย่างกล้าหาญ แต่ภายในเวลาเพียง ๒ วัน ฉนวนโปแลนด์ก็ถูกตัดขาด ในวันที่ ๕ กันยายน เยอรมันสามารถตีฝ่าเข้ามาในโปแลนด์ข้ามแม่น้ำวิสตูลา (Vistula) โดยยึดครองพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือได้หมดและรุกคืบเข้าไปถึงชานกรุงวอร์ซอ

 กองทัพโปลหวังว่าอังกฤษและฝรั่งเศสจะบุกโจมตีเยอรมนีแต่ประสบความล้มเหลวเพราะทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษไม่เชื่อในหลักการของสงครามเคลื่อนที่และคาดคะเนกำลังทางอากาศของเยอรมนีผิดพลาด กองทัพฝรั่งเศสเพียงเคลื่อนกำลังเข้ามาถึงซาร์ลันด์ (Saarland) เท่านั้น และตลอดช่วงฤดูหนาว ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๐ ก็ไม่ยอมรุกคืบหน้าไกลกว่าที่ปืนใหญ่จากแนวป้อมมาจิโนจะป้องกันไว้ได้ ส่วนอังกฤษซึ่งเพิ่งรวมกำลังเข้าอยู่ใต้การควบคุมสั่งการของฝรั่งเศสก็ยังไม่สามารถปฏิบัติการใด ๆ ได้การไม่สามารถช่วยเหลือใด ๆ ต่อโปแลนด์ได้ทั้งไม่มีการสู้รบอย่างจริงจังในยุโรปทำให้ช่วงเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ ถึงเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๐ เรียกชื่อกันว่า “สงครามปลอม” (Phony War)

 ต่อมา เยอรมนีได้ส่งกำลังเสริมมาสมทบจำนวนมากเพื่อบุกโจมตีกรุงวอร์ซอในขั้นสุดท้าย ในวันที่ ๑๕ กันยายน กรุงวอซอร์ถูกปิดล้อมและมีการโจมตีทิ้งระเบิดอย่างหนักทั้งถูกระดมยิงด้วยปืนใหญ่อย่างรุนแรง การรุกของกองทัพเยอรมันที่ใกล้จะถึงเส้นพรมแดนโปล-โซเวียตทำให้สหภาพโซเวียตวิตกว่าเยอรมนีอาจยึดครองโปแลนด์ได้ทั้งหมดสหภาพโซเวียตจึงเข้ารุกรานโปแลนด์ทางภาคตะวันออก เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน และเป็นการละเมิดกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างโซเวียต-โปแลนด์ (Soviet-Polish Nonaggression Pact) ค.ศ. ๑๙๓๒ กองทัพแดง (Red Army)* รุกเข้ามาถึง ๑๐๐ กิโลเมตรและแทบจะไม่มีการต่อต้านเลย รัฐบาลโปแลนด์หลบหนีเข้าไปในโรมาเนียและปล่อยให้กองทัพโปลต่อสู้ตามลำพัง กรุงวอร์ซอถูกเยอรมนียึดครองได้เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ในวันที่ ๕ ตุลาคม กองกำลังโปลกองสุดท้ายก็ยอมจำนน การยึดครองโปแลนด์ ทำให้เยอรมนีได้ชาวยิวเพิ่มขึ้นอีกกว่า ๒ ล้านคน กองทัพเยอรมันจึงดำเนินการกวาดล้างชาวยิวและชาวโปลเชื้อสายยิวทันทีโดยให้หน่วยสังหารพิเศษเอสเอส (Special Killing Squads of the ss) กำจัดชาวยิวให้สิ้นซากและกำหนดเขตเกตโต (ghetto) ขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ควบคุมและกักกันชาวยิว ขณะเดียวกันก็บังคับเกณฑ์ชาวยิวไปทำงานหนักที่ค่ายกักกัน (Concentration Camp)* และเพื่อยึดที่อยู่อาศัยของชาวยิวให้แก่ชาวเยอรมันที่อพยพเข้ามา ส่วนโปแลนด์ตะวันออกที่สหภาพโซเวียตยึดครองซึ่งมีพลเมืองชาวยิวราว ๓ ล้านคน หน่วยตำรวจลับโซเวียตไดัจับกุมและกวาดต้อนชาวยิวไปค่ายกักกันแรงงาน (Collective Labour Camp)* ที่ไซบีเรียซึ่งในจำนวนดังกล่าว ๔๕,๐๐๐ คนเป็นเจ้าหน้าที่ข้าราชการชาวโปลที่ถูกส่งไปค่ายกักกันแรงงานที่ใกล้เมองสโมเลนสค์ (Smolensk) ในสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตาม แมัทั้งเยอรมนีและสหภาพโซเวียตจะแบ่งกันปกครองโปแลนด์อย่างกดขี่แต่จิตวิญญาณของชาวโปลก็ยังคงเข้มแข็ง พวกเขาผนึกกำลังกันต่อต้านโดยจัดตั้งขบวนการใต้ดินต่อต้านนาซี และชาวโปลที่หลบหนีออกนอกประเทศก็จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่กรุงปารีสและเคลื่อนไหวต่อต้านเยอรมนีตลอดช่วงสงคราม

 ความพ่ายแพ้ของโปแลนด์ในเวลาเพียง ๔ สัปดาห์ ทำให้สหภาพโซเวียตวิตกว่าแนวพรมแดนตอนเหนือของสหภาพโซเวียตที่ติดกับฟินแลนด์อาจไม่ปลอดภัยจากการโจมตีของเยอรมนี สหภาพโซเวียตจึงเรียกร้องให้รัฐบอลติกทั้ง ๓ ประเทศรวมทั้งฟินแลนด์ยอมให้สหภาพโซเวียตจัดตั้งฐานทัพเรือและฐานทัพอากาศซึ่งรวมทั้งพื้นที่บริเวณพรมแดนที่ติดกับนครเลนินกราด (Leningrad) ด้วย แต่ฟินแลนด์ปฏิเสธ สหภาพโซเวียตจึงประกาศยกเลิกกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างสหภาพโซเวียตกับฟินแลนด์ ค.ศ. ๑๙๓๒ และบุกฟินแลนด์โดยไม่แจ้งเตือนล่วงหน้าเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๙ การบุกโจมตีนี้นำไปสู่การเกิดสงครามรัสเซีย-ฟินแลนด์ (Russo-Finnish War ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๐)* หรือสงครามฤดูหนาว (Winter War)* สหภาพโซเวียตพยายามนำยุทธวิธีรบแบบสายฟ้าแลบมาใช้โดยทิ้งระเบิดถล่มกรุงเฮลซิงกิ (Helsinki) อย่างหนักเพื่อกดดันให้ฟินแลนด์ยอมจำนนแต่ประสบความล้มเหลวเพราะไม่มความพร้อมและสภาพอากาศเลวร้ายส่วนฟินแลนด์ก็ยืนหยัดต่อสู้อย่างทรหดและตั้งรับการบุกบริเวณแนวป้องกันมานเนอร์ไฮม์ (Mannerheim Line) ซึ่งผ่านคอคอดคาเรเลีย (Karelia) และทะเลสาบลาโดกา (Ladoga) ไปจนถึงพรมแดนด้านที่ติดกับนครเลนินกราด

 สงครามที่เกิดขึ้นทำให้กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย (Scandinavia)* ประกอบด้วยเดนมาร์ก นอร์เวย์


และสวีเดนไม่ต้องการให้การรบขยายตัวเข้ามาในประเทศประกาศยืนยันนโยบายความเป็นกลางของตน ในขณะที่องค์การสันนิบาตชาติตอบโต้สหภาพโซเวียตด้วยการขับออกจากสมาชิกภาพและเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ช่วยเหลือฟินแลนด์ด้านอารุธยุทธภัณฑ์และส่งกองทัพเข้าไปช่วย ฟินแลนด์ใช้ความสันทัดด้านภูมิประเทศและสภาพอากาศที่หนาวเย็นให้เป็นประโยชน์โดยใช้หน่วยทหารสกีเคลื่อนที่ (mobile skitroop) ซึ่งได้สมญาจากฝ่ายโซเวียตว่า “ยมทูตสีขาว” (White Death) ซุ่มโจมตีกองทัพโซเวียตได้อย่างมีประสิทธิภาพจนทำให้การบุกของโซเวียตหยุดชะงักลงและสูญเสียทหารเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ เมื่ออากาศอุ่นขึ้นและความได้เปรียบทางธรรมชาติของฟินแลนด์หมดไป กองทัพโซเวียตสามารถตีฝ่าแนวป้องกันมานเนอร์ไฮม์เข้าไปได้และมีชัยชนะตามลำดับ รัฐบาลฟินแลนด์จึงยอมจำนนเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม และถูกบังคับให้ยอมรับสนธิสัญญาสงบศึกโดยสูญเสียดินแดนในเขตคาเรเลียตอนใต้และเมืองวีบอร์ก (Vyborg) รวมทั้งประชากรอีกร้อยละ ๑๒ สหภาพโซเวียตยังได้สิทธิเช่าคาบสมุทรฮังกอ (Hanko Peninsula) ซึ่งเป็นเส้นทางไปสู่อ่าวฟินแลนด์ เพื่อใช้เป็นฐานทัพเรือเป็นเวลา ๓๐ ปี ชัยชนะเหนือฟินแลนด์เปิดโอกาสให้สหภาพโซเวียตเข้ายืดครองลัตเวีย ลิทัวเนีย และเอสโตเนีย รวมทั้งเบสซาราเบีย (Bessarabia)* และนอร์ทบูโควีนา (North Bukovina) จากโรมาเนียใน ค.ศ. ๑๙๔๐

 ในต้น ค.ศ. ๑๙๔๐ เยอรมนีเตรียมการบุกนอร์เวย์ ซึ่งดำเนินนโยบายเป็นกลางเพราะเห็นว่านอร์เวย์เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทะเลที่สำคัญในการป้องกันความมั่นคงของกองทัพเรือเยอรมันในทะเลเหนือและทะเลบอลติกเยอรมนีกำหนดบุกนอร์เวย์ตามแผนปฏิบัติการเวเซรือบุง (Operation Weserübung) ในช่วงฤดูใบไม้ผลิในวันที่ ๒๐ มีนาคม แต่ปัญหาการเตรียมการและการประสานงานระหว่างกองทัพเรือกับกองทัพอากาศและอื่น ๆ ทำให้ต้องเลื่อนเวลาออกไปจนถึงวันที่ ๙ เมษายนตามแผนปฏิบัติการเวเซรือบุงซึ่งนำไปสู่ยุทธการที่นอร์เวย์ (Battle of Norway)* กำหนดว่า กองทัพเรือเยอรมัน ๕ กองเรือ จะเข้ายึดครองเมืองท่านาร์วิก (Narvik) ทรอนด์ไฮม์ (Trondheim) เบอร์เกน (Bergen) คริสเตียนซันด์ (Kristiansand) ออนดาลส์เนส (Andalsnes) และกรุงออสโล (Oslo) ตามลำดับ ขณะเดียวกันกองทัพเยอรมัน ๒ กองพลจะแยกกันเข้ายึดนอร์เวย์และเดนมาร์กโดยกองกำลังทางอากาศจะร่วมปฏิบัติการโจมตีสนับสนุนด้วย

 การจู่โจมของเยอรมนีทั้งทางเรือ ทางอากาศ และทางบกประสบความสำเร็จอย่างมากเพราะสามารถยึดเมืองท่าชายฝั่งของนอร์เวย์ได้หมดรวมทั้งกรุงออสโลด้วยภายในเวลาวันเดียว วิดคุน ควิสลิง (Vidkun Quisling)* นายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ซึ่งสนับสนุนเยอรมนีอย่างลับ ๆ ได้รีบยอมแพ้ต่อเยอรมนีทันที ในเวลาต่อมาเขาถูกปลดออกจากตำแหน่งและชาวนอร์เวย์ประณามว่าเขาเป็นผู้ขายชาติ ชื่อ “ควิสลิง” จึงเป็นคำศัพท์ในภาษาอังกฤษที่มีความหมายว่า “ผู้ทรยศ” ในการบุกเดนมาร์กเยอรมนีก็ประสบความสำเร็จอย่างมากเช่นเดียวกันเพราะพระเจ้าคริสเตียนที่ ๑๐ (Christian X) แห่งเดนมาร์กและรัฐบาลยอมรับคำขาดของเยอรมนีในการยึดครอง แม้จะมีการเคลื่อนไหวต่อต้านบ้างที่บริเวณคาบสมุทรจัตแลนด์แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อเยอรมนีมากนัก เดนมาร์กจึงถูกยึดครองอย่างง่ายดาย

 ชัยชนะของเยอรมนีเป็นผลจากการที่ฝ่ายพันธมิตรขาดข้อมูลเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการและการเตรียมการของเยอรมนี นอร์เวย์ซึ่งไม่มีหน่วยข่าวกรองก็ประเมินศักยภาพของเยอรมนีตํ่ากว่าความเป็นจริงเพราะไม่คาดคิดว่าเยอรมนีจะกล้าท้าทายอำนาจทางทะเลของอังกฤษ และละเมิดความเป็นกลางของตน เมื่อเยอรมนีบุกนอร์เวย์ อังกฤษดำเนินการตอบโต้และช่วยเหลือทันทีในขณะที่ประเทศพันธมิตรอื่น ๆ มีปฏิกิริยาตอบรับเชื่องช้า แม้อังกฤษจะสามารถยกพลขึ้นบกได้หลังการปะทะกันทางทะเลที่นาร์วิกแต่ก็ประสบปัญหาอย่างมากเพราะมีอาวุธไม่เพียงพอขาดยานพาหนะและเสบียงอาหารรวมทั้งไม่ชำนาญในพื้นที่การรุกของอังกฤษจึงเป็นไปอย่างล่าช้าในขณะที่เยอรมนีสามารถเสริมกำลังและต้านการบุกไว้ได้ แผนของอังกฤษที่จะยึดภาคกลางของนอร์เวย์กลับคืนจึงล้มเหลว กองกำลังของนอร์เวย์ซึ่งตรึงกำลังอยู่ในพื้นที่จึงยอมแพ้ในที่สุดพระเจ้าฮากอนที่ ๗ (Haakon VII ค.ศ. ๑๘๗๒-๑๙๕๗)* และคณะรัฐบาลนอร์เวย์หนีออกจากกรุงออสโลไปยังเมืองทรอมโซ (Tromso) ทางตอนเหนือของประเทศ เมื่อเยอรมนีทันมาบุกโจมตีเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ฝ่ายพันธมิตรก็ตัดสินใจถอนกำลังออกจากนอร์เวย์ในต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ต่อมาในวันที่ ๗ มิถุนายน พระเจ้าฮากอนที่ ๗ และรัฐบาลนอร์เวย์เดินทางออกจากประเทศไปจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่กรุงลอนดอน สงครามภาคพื้นทวีปยุโรปจึงเริ่มขึ้นและทำให้อังกฤษได้เข้าร่วมสงครามอย่างเต็มตัว

 ในต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ กองทัพเยอรมันเริ่มเคลื่อนกำลังบุกยุโรปตะวันตกตามแผนปฏิบัติการ “กล่องเหลือง” (Case Yellow) โดยมีเป้าหมายจะบุกฝรั่งเศสจากทางเหนือโดยรุกผ่านประเทศแผ่นดินตํ่าซึ่งประกอบด้วยเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์กแทนการบุกผ่านพรมแดนฝรั่งเศส-เยอรมนีที่มีแนวมาจิโนขวางกั้นอยู่ ก่อนเริ่มการบุกมีการปรับแผนจู่โจมกล่องเหลืองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเปลี่ยนชื่อเป็นแผนปฏิบัติการซีเชลชนิทท์ (Operation Sichelschnitt) หรือที่เรียกกันทั่วไปในเวลาต่อมาว่าแผนมันชไตน์ (Manstein Plan) ตามชื่อนายพลฟริทซ์ เอริช ฟอน มันชไตน์ (Fritz Erich von Manstein)* ซึ่งเป็นผู้ปรับปรุง แผนมันชไตน์กำหนดให้กำลังทหารราบและทหารยานเกราะโดยเฉพาะหน่วยแพนเซอร์ (Panzer) รวมกัน ๓ กองทัพประสานกับกำลังรบทางอากาศ กองทัพแรกจะเข้าโจมตีทางเนเธอร์แลนด์และเบลเยียม กองทัพที่ ๒ บุกไปทางแนวมาจิโน และกองทัพที่ ๓ จะเจาะทะลวงแนวป้องกันฝรั่งเศสเข้ายึดสะพานข้ามแม่นํ้าเมิส (Meuse) โดยใช้เส้นทางผ่านป่าอาร์แดน (Ardennes) ทางใต้เพื่อตัดกองกำลังฝ่ายพันธมิตรให้ขาดกลาง ก่อนเคลื่อนกำลังไปทางตะวันออกและตัดเส้นทางการเคลื่อนทัพของฝรั่งเศสทางเหนือ

 ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ กองทัพเยอรมันทัพแรกเปิดฉากโจมตีเนเธอร์แลนด์แบบสายฟ้าแลบและกองทัพอากาศทิ้งระเบิดถล่มสนามบินและเมืองต่าง ๆ ในวันเดียวกันนั้นอังกฤษมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเพราะนายกรัฐมนตรีเชมเบอร์เลนซึ่งถูกโจมตีอย่างหนักในรัฐสภาเกี่ยวกับความล้มเหลวของการดำเนินนโยบายสงครามและการวางแผนการรบก็ลาออกจากตำแหน่งวินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* ผู้นำพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสืบแทน เยอรมนีสามารถยึดครองกรุงเฮกและพื้นที่ส่วนใหญ่ของเนเธอร์แลนด์ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ในวันต่อมากองทัพอากาศเยอรมันก็โจมตีเมืองรอตเตอร์ดัม (Rotterdam) เมืองใหญ่อันดับ ๒ ของประเทศ มีผู้เสียชีวิตกว่า ๑,๐๐๐ คน บ้านเรือนเสียหายยับเยินและมีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยกว่า ๗,๘๐๐ คน เนเธอร์แลนด์ จึงประกาศยอมแพ้ สมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮล์มีนา (Wilhelmina) ต้องเสด็จลี้ภัยไปประทับยังอังกฤษในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม และจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในกรุงลอนดอนเพื่อต่อต้านเยอรมนี หลังมีชัยชนะกองทัพเยอรมันมุ่งตรงเข้าสู่เบลเยียมและนำไปสู่การปะทะกับกองทัพอังกฤษและฝรั่งเศส ในช่วงเวลาเดียวกันกองทัพเยอรมันทัพที่ ๒ ซึ่งประกอบด้วยทหารกว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ คน และรถถัง ๑,๕๐๐ คัน เข้าโจมตีลักเซมเบิร์กและเบลเยียมโดยประสานการรบกับกองทัพเยอรมันทัพแรก ลักเซมเบิร์ก ยอมจำนนในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม แกรนต์ดัชเชสชาร์ลอต (Charlotte) พระประมุขและคณะรัฐบาลได้อพยพลี้ภัยออกนอกประเทศไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่กรุงลอนดอนตลอดช่วงเวลาของสงคราม พระองค์มีพระราชดำรัสทางวิทยุกระจายเสียงบีบีซีหรือบรรษัทกระจายเสียงแห่งอังกฤษ (BBC—British Broadcasting Corporation)* อย่างสมํ่าเสมอเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ชาวลักเซมเบิร์ก

 แม้อังกฤษและฝรั่งเศสจะผนึกกำลังกันช่วยเหลือกลุ่มประเทศแผ่นดินตํ่าแต่ไม่สามารถต้านการรุกของเยอรมนีได้ กองกำลังร่วมของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเบลเยียมถูกโจมตีอย่างหนักจนต้องถอยร่นไปจนติดทะเลเหนือเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม อีก ๒ วันต่อมาพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ (Leopold III ค.ศ. ๑๙๓๔-๑๙๕๑)* ทรงจำต้องยอมแพ้โดยปราศจากเงื่อนไขและทรงถูกจับเป็นเชลยสงครามทั้งถูกกักบริเวณ ณ ปราสาทที่เมืองลาเคน (Laeken) กองทัพ เบลเยียมส่วนหนึ่งพร้อมกับกองกำลังของอังกฤษและฝรั่งเศสจำต้องสละประเทศถอยไปตั้งมั่นที่เมืองดันเคิร์ก (Dunkirk) เมืองท่าและเมืองอุตสาหกรรมทางตอนเหนือของฝรั่งเศสใกล้กับพรมแดนฝรั่งเศส-เบลเยียม ต่อมาในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ มีการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่กรุงลอนดอนเพื่อประสานความร่วมมือกับฝ่ายพันธมิตรต่อต้านเยอรมนีตลอดช่วงเวลาที่เบลเยียมถูกยึดครองกว่า ๔ ปี

 ในช่วงที่กองทัพเยอรมันบุกเบลเยียม เยอรมนีเปิดยุทธการที่ฝรั่งเศส (Battle of France)* ด้วยการตีฝ่าเข้าไปยังแนวป้องกันทหารราบฝรั่งเศสและอังกฤษในป่าอาร์แดนที่เป็นที่ราบสูงและป่าลึกซึ่งขวางกั้นแนวพรมแดนฝรั่งเศส-เบลเยียม พลตรี แอร์วิน รอมเมิล (Erwin Rommel)* ดาวรุ่งดวงใหม่ของกองพลแพนเซอร์สามารถบุกฝ่าป่าอาร์แดนที่ไม่มีใครเจาะทะลวงได้สำเร็จและข้ามแม่นํ้าเมิสในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ในการรบเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคมเพียงวันเดียว ฝรั่งเศสไม่สามารถด้านทานการบุกของกองกำลังรถถังของเยอรมนีได้และทหารฝรั่งเศสกว่า ๒๐,๐๐๐ คนถูกจับเป็นเชลยศึก หลังจากยึดป่าอาร์แดนได้กองทัพเยอรมันบุกคืบหน้าต่อไปจนถึงเมืองดันเคิร์กในการรบที่ดันเคิร์กระหว่างวันที่ ๒๙ พฤษภาคม -๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐


เยอรมนีใช้การโจมตีทางอากาศเพียงอย่างเดียวดันเคิร์กถูกระเบิดถล่มอย่างหนักและต่อเนื่องจนกองทัพบกอังกฤษ ฝรั่งเศส และเบลเยียมที่รวมกันอยู่ในเมืองนี้ไม่สามารถปฏิบัติการรบได้ แต่ฝ่ายพันธมิตรก็ไม่ยอมแพ้และนำไปสู่ปฏิบัติการการถอนทัพที่ดันเคิร์ก (Evacuation of Dunkirk)* เพื่อช่วยชีวิตทหารให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้และเพื่อนำกำลังพลไปตั้งมั่นสู้กับเยอรมนีที่เกาะอังกฤษต่อไป การถอนทัพที่ดันเคิร์กนับเป็นวีรกรรมครั้งสำคัญของฝ่ายพันธมิตรเพราะกองทัพเรือและกองทัพอากาศอังกฤษซึ่งเป็นแกนนำในการปฏิบัติการร่วมกับกองกำลังฝรั่งเศสสามารถถอนกำลังพลของอังกฤษ ฝรั่งเศสและเบลเยียมกว่า ๓๓๐,๐๐๐ คนออกจากดันเคิร์กข้ามช่องแคบอังกฤษไปตั้งมั่นที่ประเทศอังกฤษได้สำเร็จ แต่ก็ต้องละทิ้งกำลังพลอีกประมาณ ๔๐,๐๐๐ คนและอาวุธยุทโธปกรณ์หนักอีกจำนวนหนึ่งไว้เบื้องหลังเพราะเวลาไม่เอื้ออำนวย ความสำเร็จของปฏิบัติการถอนทัพครั้งนี้มีส่วนเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ฝ่ายพันธมิตรในการยืนหยัดทำสงครามกับเยอรมนีทุกรูปแบบจนมีชัยชนะในท้ายที่สุด

 หลังฝ่ายพันธมิตรถอนกำลังพลที่ดันเคิร์กออกไปแล้วเยอรมนีซึ่งปรับแผนการรบใหม่มุ่งเข้ายึดครองฝรั่งเศสทั้งประเทศโดยการบุกโจมตีพรมแดนเบลเยียมเข้าสู่ฝรั่งเศสทางด้านหลังของแนวมาจิโนบริเวณเมืองดีนอง (Dinant) และเซดอง (Sédan) ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่สุดของแนวมาจิโนการต่อต้านมีอยู่ประปรายและในวันที่ ๙ มิถุนายน กองทัพเยอรมันดีแนวมาจิโนแตกและเคลื่อนกำลังเข้ายึดครองทุกพื้นที่จนถึงกรุงปารีสซึ่งถูกยึดครองในวันที่ ๑๐ มิถุนายนในวันเดียวกันอิตาลีก็ประกาศสงครามต่อฝรั่งเศส รัฐบาลฝรั่งเศสอพยพออกจากกรุงปารีสไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองตูร์ (Tours) ทางตอนใต้ของประเทศ ในวันที่ ๑๔ มิถุนายน กองทัพเยอรมันเข้าควบคุมกรุงปารีสเต็มกำลังและประกาศให้กรุงปารีสเป็น “เมืองเปิด” (Open City) โดยจะไม่ถูกทำลายและประชาชนใช้ชีวิตได้เป็นปรกติ อีก ๒ วันต่อมา ปอล เรโน (Paul Reynaud)* นายกรัฐมนตรีซึ่งถูกนายพลฟิลิป เปแตง (Philippe pétain)* กดดันให้เปิดการเจรจากับเยอรมนีเพื่อสงบศึกก็ลาออกและเปแตงเข้าดำรงตำแหน่งสืบแทน ในวันรุ่งขึ้นรัฐบาลฝรั่งเศสประกาศไม่ทำสงครามต่อไปและให้ดำรงความเป็นชาติไว้เพียงแต่เปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศโดยนายพลเปแตงเป็นประธานาธิบดี เปแตงจึงตัดสินใจยุติสงครามและให้ความร่วมมือกับเยอรมนีทั้งย้ายที่ทำการรัฐบาลไปอยู่ที่เมืองวิชี (Vichy)

 หลังนายพลเปแตงประกาศจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่วิชีได้ ๑ วัน ในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulles)* ผู้บัญชาการกองทัพฝรั่งเศสซึ่งลี้ภัยไปอังกฤษเมื่อกรุงปารีสแตกได้ประกาศแถลงการณ์ผ่านวิทยุกระจายเสียงบีบีซีเรียกร้องชาวฝรั่งเศสผู้รักชาติทุกคนให้สนับสนุนเขาและรัฐบาลพลัดถิ่นที่ตั้งมั่นในกรุงลอนดอนเพื่อต่อสู้และทำสงครามกับเยอรมนีต่อไป เพราะผลของยุทธการที่ฝรั่งเศสยังไม่ใช่การยุติสงคราม จากนั้นเดอ โกลซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษได้จัดตั้งขบวนการฝรั่งเศสเสรี (Free French Movement)* ขึ้นเพื่อต่อด้านเยอรมนีซึ่งในเวลาต่อมามีบทบาทสำคัญในการปลดปล่อยฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๙๔๔ อย่างไรก็ตาม ชาวฝรั่งเศสโดยทั่วไปต่างพอใจกับความสงบที่กลับคืนมา ในวันที่ ๒๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ฝรั่งเศสและเยอรมนีได้ลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาสงบศึกบนตู้รถไฟคันเก่าที่ได้ลงนามกันใน ค.ศ. ๑๙๑๘ โดยนำตู้รถไฟจากพิพิธภัณฑ์ในกรุงปารีสลากไปยังป่าเมืองกงเปียญ (Compiègne) ณ จุดเดียวกับที่เยอรมนีเคยประกาศ


ยอมแพ้ใน ค.ศ. ๑๙๑๘ เพราะเยอรมนีต้องการหยามเกียรติฝรั่งเศส สนธิสัญญาสงบศึกเป็นไปตามเงื่อนไขที่เยอรมนีกำหนดโดยไม่เปิดให้มีการเจรจาต่อรอง ความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสทำให้อังกฤษคาดการณ์ว่ายุทธการครั้งใหม่ของเยอรมนีคือการโจมตีอังกฤษซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในเวลาไม่นานนัก

 ในกลางเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ เยอรมนี เตรียมการบุกเกาะอังกฤษโดยใช้แผนปฏิบัติการซีไลออน (Operation Sea Lion) และใช้กำลังกองทัพอากาศเป็นหลักโจมตีแบบสายฟ้าแลบเพื่อไม่ให้อังกฤษตอบโต้ได้ทันและนำไปสู่ยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battle of Britain)* การรบเริ่มขึ้นเมื่อเยอรมนีส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดจำนวนมากโจมตีฐานทัพอากาศ ฐานทัพเรือ และเส้นทางคมนาคมทางเรือและทางบกที่สำคัญรวมทั้งเมืองชายฝั่งทะเลด้านใต้เป็นระยะ ๆ เพื่อหวังตัดทอนกำลังของอังกฤษในการช่วยเหลือยุโรปตะวันตก ในการโจมตีทางอากาศระยะแรกระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ เยอรมนีสูญเสียเครื่องบินไปรวม ๑๘๐ ลำซึ่งเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิด ๑๐๐ ลำ ส่วนอังกฤษแม้จะสูญเสียเครื่องบินขับไล่ ๗๐ ลำ และกำลังรบยังเทียบกับของเยอรมนีไม่ได้แต่ทั้งจำนวนเครื่องบินรบและนักบินรวมทั้งขวัญและกำลังใจของนักบินอังกฤษก็ยังคงเข้มแข็ง พระเจ้าจอร์จที่ ๖ (George VI)* และพระราชวงศ์ก็ยังคงประทับในกรุงลอนดอนและเสด็จเยี่ยมประชาชนที่ประสบภัยสงครามอยู่เนือง ๆ นับเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้ประชาชนอีกทางหนึ่ง ในช่วงระหว่างการรบอังกฤษเร่งผลิตเครื่องบินรบและอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งกลางวันและกลางคืน รวมทั้งปรับปรุงระบบการรับส่งสัญญาณด้วยวิทยุและเรดาร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 ในเดือนตุลาคม กองทัพอากาศเยอรมันโจมตีเกาะอังกฤษทั้งกลางวันและกลางคืนตลอดเดือนเพื่อกดดันให้อังกฤษยอมแพ้แต่กีล้มเหลว ในช่วงแรกของเดือนพฤศจิกายนมีการทิ้งระเบิดเพิ่มในเวลากลางคืนอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ยแต่ละครั้งประมาณ ๒๐๐ ลูก ในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายนเพียงวันเดียว กรุงลอนดอนและเมืองใหญ่หลายเมืองถูกทำลายอย่างหนักโดยเฉพาะที่เมืองโคเวนทรี (Coventry) มหาวิหารที่สำคัญที่สุดของเมืองซึ่งสร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ ถูกทำลายย่อยยับและมีผู้เสียชีวิต ๔๐๐ คน อย่างไรก็ตาม หลังการโจมตีครั้งนี้เยอรมนียกเลิกปฏิบัติการแบบสายฟ้าแลบและถอนกำลังทางอากาศส่วนใหญ่ไปปฏิบัติการในแนวรบด้านตะวันออก แม้การโจมตีทางอากาศจะยังคงมีอยู่ประปรายจนถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ แต่ก็นับได้ว่าอังกฤษเป็นฝ่ายมีชัยในยุทธการที่เกาะอังกฤษและชัยชนะครั้งนี้เป็นความภาคภูมิใจของประชาชนทั้งชาติ ความพ่ายแพ้ของกองทัพอากาศเยอรมันส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่สามารถทำลายสถานีเรดาร์ของอังกฤษลงได้และจำนวนเครื่องบินประจัญบานมิสเซอร์ชมิทท์ ๑๐๙ และ ๑๑๐ (Misserschmitt-Me 109, 110) ที่ใช้ตุ้มกันเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายตนมีไม่มากพอ ทิ้งนักบินประจัญบานและฝ่ายปฏิบัติการสู้รบภาคพื้นดินของอังกฤษก็เข้มแข็งและมีขวัญกำลังใจดี อังกฤษเสียเครื่องบินไป ๙๑๕ ลำ และเยอรมนีเสีย ๑,๗๓๓ ลำ หลังการยุทธ์ครั้งนี้ เยอรมนีต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อฟื้นตัวในขณะที่อังกฤษมีกำลังเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ความพ่ายแพ้ของเยอรมนีครั้งแรกนี้ทำให้พลเมืองยุโรปทั่วไปเริ่มคลายความเชื่อถือในความสามารถของเยอรมนีที่จะพิชิตประเทศต่าง ๆ ในยุโรปลงได้อย่างรวดเร็วด้วยยุทธวิธีโจมตีแบบสายฟ้าแลบ

 ส่วนการยุทธ์ทางทะเลนั้น หลังอังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนีเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ ได้ไม่กี่ชั่วโมง เยอรมนีได้เริ่มปฏิบัติการโดยใช้กองเรือดำน้ำที่เรียกกันว่ากองเรืออู (U-boat) ลอบโจมตีและทำลายเรือสินค้าและเรือรบของฝ่ายอังกฤษและพันธมิตรซึ่งนำไปสู่ยุทธนาวีมหาสมุทรแอตแลนติก (Battle of the Atlantic)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๕ ปฏิบัติการทางทะเลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนการรบของเยอรมนีที่ต้องการควบคุมน่านนํ้ามหาสมุทรแอตแลนติกซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือและการค้าที่สำคัญของนานาประเทศยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษที่ใช้ในการติดต่อกับแคนาดาและสหรัฐอเมริกาเพื่อตัดการลำเลียงเสบียง สัมภาระ อาวุธยุทธภัณฑ์ และสินค้าอื่น ๆ มายังเกาะอังกฤษ ในช่วงแรกของสงครามแม้กองทัพเรือเยอรมันจะมีกองเรืออูประจำการในมหาสมุทรแอตแลนติกจำนวนจำกัดประมาณ ๒๑-๒๓ ลำ แต่กองเรืออูก็สามารถทำลายเรือสินค้าและเรือรบของอังกฤษและฝ่ายพันธมิตรได้จำนวนมาก ในกลางเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ เรืออู-๒๙ (U-29) สามารถจมเรือรอยัลโอก (Royal Oak) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “เรือรบที่ไม่มีวันจม” ของอังกฤษขณะทอดสมออยู่ในอ่าวสแกปาโฟลว์ (Scapa Flow) ลงภายในเวลาเพียง ๑๐ นาทีด้วยตอร์ปิโด ๓ ลูก มีคนเสียชีวิต ๗๘๕ คน อังกฤษต้องปิดฐานทัพเรือที่อ่าวสแกปาโฟลร์เป็นการชั่วคราวซึ่งนับเป็นการทำลายเกียรติภูมิของกองทัพอังกฤษซึ่งได้ชื่อว่ามีกองทัพเรือที่เข้มแข็งที่สุดในโลก

 ปฏิบัติการรบของเรืออูในยุทธนาวีมหาสมุทรแอตแลนติกนับเป็นเหตุการณ์สำคัญมากเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์การยุทธ์ของสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพราะกองเรืออูได้สร้างความพรั่นพรึงและทำลายเรือของฝ่ายพันธมิตร โดยเฉพาะอังกฤษอย่างมาก ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ กองเรืออูเป็นภัยต่อกองเรือสินค้าของฝ่ายพันธมิตรมาก ในแต่ละวันเรืออู ๔๐ ลำจะเข้าประจำการและอีก ๗๐ ลำจะปฏิบัติการในการยุทธ์ อย่างไรก็ตาม ในการโจมตีในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ กองเรืออูถูกเรือคุ้มกันเรือพิฆาต และเครื่องบินของฝ่ายพันธมิตรโจมตีอย่างหนักจนเรืออูกว่า ๔๐ ลำจมลงและอีก ๓๗ ลำเสียหายหนัก ส่วนเรือสินค้าถูกจมเพียง ๕ ลำเท่านั้น ความหายนะครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดสงครามเรืออู ฝ่ายพันธมิตรเริ่มครอบครองน่านนํ้าได้มากขึ้นตามลำดับจนปฏิบัติการโจมตีกองเรืออูหมดบทบาทลง ประมาณว่าเรืออูจมเรือสินค้าได้กว่า ๓,๐๐๐ ลำ เรือรบฝ่ายพันธมิตร ๑๔๕ ลำ และคร่าชีวิตของลูกเรือสินค้า ๓๒,๐๐๐ คน รวมทั้งทหารชาติพันธมิตรอีกนับหมื่นคน ส่วนกองเรืออูทั้งหมดประมาณ ๑,๒๐๐ ลำ


จำนวนเกือบ ๘๐๐ ลำได้ถูกฝ่ายพันธมิตรทำลายและพลประจำเรือร้อยละ ๗๐ ได้เสียชีวิตและสูญหายไปในสงคราม

 ความล้มเหลวของเยอรมนีในการยึดครองเกาะอังกฤษใน ค.ศ. ๑๙๔๐ ทำให้เยอรมนีซึ่งต้องการกอบกู้ชื่อเสียงตัดสินใจเปิดแนวรบด้านตะวันออกใน ค.ศ. ๑๙๔๑ ด้วยแผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa)* เพื่อโจมตีสหภาพโซเวียต และเพื่อดำเนินนโยบายตามแผนการขยายดินแดนไปทางตะวันออกของพรรคนาซีด้วยการผนวกดินแดนทางตะวันออกของสหภาพโซเวียตให้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวเยอรมันรวมทั้งป้องกันไม่ให้สหภาพโซเวียตฉวยโอกาสเข้ายึดครองคาบสมุทรบอลข่านในขณะที่มหาอำนาจยุโรปกลางและยุโรปตะวันตกกำลังทำสงครามต่อกัน ก่อนการบุกสหภาพโซเวียต เยอรมนีได้เปิดการรบด้วยสงครามสายฟ้าแลบในคาบสมุทรบอลข่านและสามารถบดขยี้ยูโกสลาเวียและกรีซได้ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๙๔ ชัยชนะดังกล่าวมีส่วนเสริมสร้างความฮึกเหิมแก่เยอรมนี หนึ่งเดือนก่อนการบุกสหภาพโซเวียต รูดอล์ฟ เฮสส์ (Rudolf Hess)* แกนนำคนสำคัญของพรรคนาซีลอบบินไปสกอตแลนด์เพื่อเจรจาสันติภาพกับอังกฤษโดยให้อังกฤษยุติการรบและร่วมมือกับเยอรมนีในการโจมตีสหภาพโซเวียต เยอรมนีสัญญาว่าจะยอมให้อังกฤษมีอำนาจอิสระในจักรวรรดิอังกฤษแต่ข้อเสนอสันติภาพของเฮสส์ล้มเหลวและรัฐบาลเยอรมันปฏิเสธการมีส่วนร่วมรับผิดชอบกับการกระทำของเฮสส์ปฏิบัติการของเฮสส์ทำให้เยอรมนีเร่งเตรียมเคลื่อนกำลังพลและในคืนวันที่ ๒๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ เยอรมนีบุกโจมตีสหภาพโซเวียตโดยไม่ได้ประกาศสงครามเป็นทางการเยอรมนีกระจายกองกำลังเป็น ๓ กลุ่ม คือ กองทัพกลุ่มเหนือมุ่งตรงไปยังนครเลนินกราด กองทัพกลุ่มกลางรุกตรงไปสู่กรุงมอสโกตามเส้นทางที่เคยใช้ในการบุกรัสเซียผ่านเมืองสโมเลนสก์ ส่วนกองทัพกลุ่มใต้เคลื่อนกำลังเข้ายึดยูเครน (Ukraine) และคาบสมุทรไครเมีย แม้กองทัพแดงของโซเวียตจะพยายามต่อต้านอย่างเข้มแข็งแต่กองทัพเยอรมันก็มีชัยชนะอย่างต่อเนื่องและบุกทะลวงเข้ายึดดินแดนตอนในของประเทศได้ทั้งจับทหารโซเวียตนับล้านๆ คนตามเส้นทางเดินทัพ

 การบุกของเยอรมนีทำให้กติกาสัญญานาซี-โซเวียตสิ้นสุดลงโดยปริยายและภายในไม่กี่สัปดาห์ ดินแดนที่สหภาพโซเวียตเข้ายึดครองตามข้อตกลงลับ ค.ศ. ๑๙๓๙ ก็ถูกเยอรมนียึดครองได้ทั้งหมด อังกฤษได้ประกาศร่วมสู้รบและสนับสนุนสหภาพโซเวียตทันที ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ ทั้ง ๒ ประเทศลงนามในสนธิสัญญาช่วยเหลือซึ่งกันและกันและประกาศที่จะไม่ยอมแยกกันเจรจากับเยอรมนี อีก ๒ วันต่อมาสหรัฐอเมริกาก็ประกาศสนับสนุนสหภาพโซเวียตและจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์มาให้ในกลางเดือนสิงหาคม ผู้นำสหรัฐอเมริกาและอังกฤษประชุมหารือกันบนเรือออกัสตา (Augusta) นอกชายฝั่งนิวฟันด์แลนด์ในมหาสมุทรแอตแลนติกและลงนามร่วมกันในกฎบัตรแอตแลนติก (Atlantic Charter)* เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติในการสถาปนาสันติภาพของยุโรปและของโลกในอนาคต ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลของสหรัฐอเมริกาที่เกาะโอวาฮู (Oahu) ของฮาวายในเช้าตรู่ของวันอาทิตย์ที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ และยกพลขึ้นบกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งนำไปสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา สหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้ประกาศสงครามต่อญี่ปุ่นในวันที่ ๘ ธันวาคม และเปิดแนวรบด้านแปซิฟิก อีก ๓ วันต่อมา ฮิตเลอร์และมุสโสลีนีซึ่งเป็นพันธมิตรญี่ปุ่นก็ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกาได้เข้าร่วมสงครามในยุโรปและนำไปสู่ช่วงสมัยการเป็นพันธมิตรอันยิ่งใหญ่ (Grand Alliance) ของ ๓ ประเทศมหาอำนาจระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๑-๑๙๔๕ การประกาศสงครามของเยอรมนีนับเป็นความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายของฮิตเลอร์เพราะทำให้สหรัฐอเมริกาทุ่มเทกำลังส่วนใหญ่ต่อต้านเยอรมนีและร่วมมือกับอังกฤษและสหภาพโซเวียตอย่างเต็มที่ จนกล่าวได้ว่าสงครามที่เริ่มต้นในยุโรปได้ขยายตัวเป็นสงครามโลก

 แม้เยอรมนีจะมีชัยชนะในระยะแรกของการบุกสหภาพโซเวียตแต่เมื่อย่างเข้าฤดูหนาว การรุกคืบหน้าของเยอรมนีเริ่มชะงักลงและการขาดแคลนยุทธสัมภาระและอาวุธกลายเป็นปัญหาใหญ่ของกองทัพ เมื่ออากาศหนาวเย็นมากขึ้นและอุณหภูมิลดตํ่ากว่าจุดเยือกแข็ง กองทหารเยอรมันซึ่งไม่ได้เตรียมตัวที่จะเผชิญกับฤดูหนาวอันทารุณในโซเวียตก็ต้องหยุดอยู่กับที่ ทหารและปืนไม่อาจทำงานได้สตาลินได้แต่งตั้งนายพลเกออร์กี จูคอฟ (Georgi Zhukov)* ซึ่งมีชื่อเสียงจากการบดขยี้ญี่ปุ่นในแมนจูเรีย ค.ศ. ๑๙๓๙ ให้เป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพื่อป้องกันกรุงมอสโกและจัดสรรกำลังพลให้โดยไม่จำกัด กองทัพแดงซึ่งคุ้นเคยกับสภาพภูมิอากาศจึงเริ่มตีโต้ขับไล่แนวหน้าของกองทัพเยอรมันที่บุกเข้าใกล้กรุงมอสโกและที่อื่น ๆ ออกไปจนเกือบหมด ในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ เยอรมนีเริ่มถอยจากแนวหน้ามอสโกเป็นครั้งแรก กองทัพแดงส่วนหนึ่งจึงเคลื่อนกำลังมาหนุนช่วยนครเลนินกราดซึ่งถูกปิดล้อม ตั้งแต่วันที่ ๘ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๑ และขณะเดียวกันก็ทุ่มกำลังต้านเยอรมนีในการจะยึดครองมอสโกอย่างเหนียวแน่นจนกองทัพเยอรมันต้องล่าถอยในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๒ ชัยชนะของโซเวียตครั้งนี้ทำให้ขวัญสู้รบของกองทัพแดงสูงขึ้นและมิความมั่นใจมากขึ้นว่าพวกเขาต้องมีชัยชนะอย่างแน่นอน ทั้งส่งผลให้ขบวนการต่อต้านนาซีในประเทศยุโรปต่าง ๆ มีกำลังใจดีขึ้น ในช่วงที่เยอรมนีบุกสหภาพโซเวียต ฮิตเลอร์ก็สั่งการให้กวาดล้างยิวทั่วยุโรปซึ่งนำไปสู่การกำหนดมาตรการการแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย (Final Solution)* และเป็นการเริ่มต้นของการฆ่าล้างเผ่าพันธ์

 ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๔๒ เยอรมนีระดมกำลังบุกหนักบริเวณแนวรบฝั่งแม่นํ้าวอลกาและคอเคซัสเพื่อยึดครองเมืองสตาลินกราดซึ่งเป็นศูนย์อุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศและเป็นเมืองสัญลักษณ์ของความเป็นอิสระของโซเวียต สตาลินได้แต่งตั้งนีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev)* เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตยูเครนประสานงานกับโปลิตบูโรเกี่ยวกับการรบและสถานการณ์สงครามและการป้องกันเมืองสตาลินกราดสหภาพโซเวียตพยายามตั้งรับและป้องกันการบุกโจมตีอย่างเข้มแข็งจนเยอรมนีต้องยอมลำถอยจากแนวรบในยุทธการที่สตาลินกราด (Battle of Stalingrad)* ในเดือนพฤศจิกายน ในเดือนเดียวกันนั้นกองกำลังผสมอังกฤษ-อเมริกันได้ยกพลขึ้นบกที่ชายฝังโมร็อกโก (Morocco) และแอลจีเรีย (Algeria) และเปิดฉากตีโต้ข้าศึกเป็นครั้งแรกในแอฟริกาเหนือ แม้การรบในแอฟริกาตอนเหนือ (North Africa Campaigns)* จะใช้เวลาไม่นานนักแต่ก็เป็นการรบที่ดุเดือดรุนแรงและสร้างความเสียหายกันทั้ง ๒ ฝ่าย ในเดือนพฤษภาคมปีต่อมา กองทัพเยอรมันและอิตาลีถูกตีถอยร่นจากแอฟริกาเหนือ ต่อมากองกำลังผสมอังกฤษ-อเมริกันก็ยกพลขึ้นบกที่เกาะซิซิลีและทางภาคใต้ของอิตาลีและสามารถยึดเนเปิลส์ได้ทั้งรุกเข้าสู่กรุงโรมซึ่งทำให้มุสโสลีนีหมดอำนาจในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ อีก ๒ เดือนต่อมารัฐบาลอิตาลีก็ขอยุติสงครามอย่างเป็นทางการ แต่การสู้รบในอิตาลียังคงดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่งจนถึงต้น ค.ศ. ๑๙๔๕ กองทัพพันธมิตรจึงยึดครองอิตาลีได้เกือบทั้งหมด

 ในแนวรบโซเวียตช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ เยอรมนีได้ระดมกำลังคนและยุทโธปกรณ์อย่างมโหฬารเพื่อปิดล้อมและบดขยี้กองทัพโซเวียตที่แนวรบใกล้เมืองคุรสค์ (Kursk) ซึ่งนำไปสู่ยุทธการที่เมืองคุรสค์ (Battle of Kursk)* รวม ๕๐ วันระหว่างวันที่ ๕ กรกฎาคม ถึง ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ ยุทธการครั้งนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของสงครามในแนวรบด้านตะวันออกเพราะเยอรมนีพ่ายแพ้อย่างยับเยินและต้องล่าถอยออกจากดินแดนโซเวียตทั้งทำให้สหภาพโซเวียตเป็นฝ่ายตั้งรับและฝ่ายรุกตลอดแนวรบทั้งหมดจนสิ้นสงคราม ยุทธการที่เมืองคุรสค์จึงเป็นการรุกของเยอรมนีที่มีอายุสั้นที่สุด หน่วยทหารยานเกราะของเยอรมนีโต้รับความเสียหายด้านยุทโธปกรณ์อย่างหนัก ต่อมา ในปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๔ เยอรมนีก็ถอนกำลังจากการปิดล้อมนครเลบินกราด (Siege of Leningrad)* ซึ่งยาวนานถึง ๙๐๐ วัน

 ความปราชัยของเยอรมนีในยุทธการที่เมืองคุรสค์ทำให้ฝ่ายพันธมิตรซึ่งประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา อังกฤษและสหภาพโซเวียต จัดการประชุมครั้งสำคัญครั้งแรกขึ้นที่กรุงมอสโกระหว่างวันที่ ๑๙-๓๐ ตุลาคมเพื่อหารือการเอาชนะเยอรมนีและตกลงกันว่าด้วยความมั่นคงทั่วไปของยุโรปเมื่อสงครามสิ้นสุดลง รวมทั้งมีมติยืนยันแผนการยกพลขึ้นบกที่ฝรั่งเศสเพื่อปลดปล่อยยุโรปจากการยึดครองของเยอรมนี ความสำเร็จของการประชุมที่กรุงมอสโก (Moscow Conference)* ค.ศ. ๑๙๔๓ ถือว่าได้เป็นพื้นฐานของความตกลงและร่วมมือกันต่อไปของฝ่ายพันธมิตรภายหลังสงครามสิ้นสุดลงเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ความสำเร็จของการประชุมที่มอสโกทำให้เยอรมนีต้องการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตกับประเทศพันธมิตรตะวันตกเยอรมนีจึงนำเรื่องการสังหารหมู่ทหารโปล ๔,๕๐๐ คน ที่ปาคะทิน (Katyn) ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ มาเปิดเผยโดยกล่าวหาสหภาพโซเวียตว่าได้ปฏิบัติการการสังหารหมู่ที่คะทิน (Katyn Massacre)* แต่สหภาพโซเวียตปฏิเสธและกล่าวว่าเยอรมนีเป็นฝ่ายปฏิบัติการเอง

 การประชุมที่กรุงมอสโกได้นำไปสู่การประชุมครั้งสำคัญอีกหลายครั้งเพื่อหารือตกลงกันเกี่ยวกับนโยบายสงครามและอนาคตของยุโรปในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะสิ้นสุดลง กล่าวคือ การประชุมที่ไคโร (Cairo Conference ๒๒-๒๖ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๓)* ว่าด้วยปัญหาสงครามด้านเอเชีย-แปซิฟิก และการวางแผนเผด็จศึกญี่ปุ่น การประชุมที่กรุงเตหะราน (Tehran Conference ๒๘ พฤศจิกายน- ๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๓)* ว่าด้วยการหารือสืบเนื่องจากผลการประชุมที่ไคโร และเป็นการพบกันครั้งแรกของผู้นำสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และ สหภาพโซเวียต การประชุมที่ดัมบาร์ตันโอกส์ (Dumbarton Oaks Conference ๒๑ สิงหาคม - ๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๔)* ว่าด้วยการจะก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ (United Nations)* ขึ้นเพื่อทำหน้าที่แทนองค์การสันนิบาตชาติซึ่งยุบเลิกไปในช่วงต้นสงคราม การประชุมที่ยัลตา (Yalta Conference ๔-๑๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕)* ว่าด้วยปัญหาสถานภาพของเยอรมนีหลังสงคราม


และการปลดปล่อยยุโรปตะวันออกและการประชุมที่พอทสดัม (Potsdam Conference ๑๗ กรกฎาคม -๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕)* ว่าด้วยการสร้างสันติภาพในยุโรปและความตกลงเกี่ยวกับเยอรมนีและโปแลนด์

 ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๔๔ มหาอำนาจพันธมิตรได้ยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มองดี (Normandy) เมื่อวันที่ ๖ มิฤนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ เพื่อเปิดแนวรบด้านที่ ๒ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรปและเพื่อปลดปล่อยยุโรปจากการยึดครองของนาชีรวมทั้งเพื่อให้กองทัพโซเวียตสามารถรุกเข้ามาทางตะวันตกได้เร็วขึ้น วันดี-เดย์ (D-Day)* ซึ่งเป็นวันปฏิบัติการยุทธ์จึงได้ชื่อว่าเป็น “วันที่ยาวนานที่สุด” (the longest day) และเป็นการยกพลขึ้นบกครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์การรบเนื่องจากเป็นยุทธการผสมขนาดใหญ่ที่หนักไปทางด้านปฏิบัติการสะเทินนํ้าสะเทินบก (amphibious operation) ทั้งทางบกและทางทะเลที่อาศัยการสนับสนุนทางอากาศด้วย ยุทธการผสมครั้งนี้ประกอบด้วยทหารกว่า ๑๕๐,๐๐๐ คน เรือรบ ๑,๒๐๐ ลำ และเรือประเภทต่าง ๆ อีกกว่า ๕,๐๐๐ ลำ และเครื่องบินรบกว่า ๙,๐๐๐ เครื่อง วันดี-เดย์จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของการรบเพราะเป็นการเริ่มต้นของชัยชนะครั้งสำคัญของฝ่ายพันธมิตรในสงคราม ความสำเร็จของวันดี-เดย์ซึ่งใช้เวลาเกือบ ๒๔ ชั่วโมงทำให้ฝ่ายพันธมิตรสามารถเคลื่อนกำลังเข้าสู่พื้นที่แนวหลังของเยอรมนีจนมีชัยชนะในยุทธการที่นอร์มองดี (Battle of Normandy) โดยปลดปล่อยเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศสได้สำเร็จจากนั้นฝ่ายพันธมิตรก็รุกคืบหน้ามุ่งสู่เยอรมนีและในช่วงเวลาเดียวกันกองทัพแดงก็เคลื่อนกำลังใกล้จะถึงพรมแดนยุโรปตะวันออก

 ในฤดูร้อนเดียวกันนั้นกองทัพแดงบุกโจมตีเยอรมนีในเบโลรุสเซียจนพ่ายแพ้และสามารถปลดปล่อยนอร์เวย์และยูโกสลาเวียตลอดจนรุกไล่ตามศัตรูเข้าไปยังเชโกสโลวะเกียและฮังการี ความพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องของเยอรมนีทำให้กลุ่มนายทหารระดับสูงซึ่งมีพันโท เคลาส์ ฟอน ชเตาฟ์เฟนแบร์ก (Claus von stauffenberg)* เป็นผู้นำ เห็นว่าฮิตเลอร์ดำเนินนโยบายผิดพลาดจึงได้คบคิดวางแผนสังหารฮิตเลอร์และยึดอำนาจในกรุงเบอร์ลินซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่า แผนวางระเบิดเดือนกรกฎาคม (July Bomb Plot)* แต่ล้มเหลว ต่อมาในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๔ กองทัพแดงก็ยึดพื้นที่ในแนวเขตแดนของโซเวียตด้านตะวันตกทั้งหมดกลับคืนได้และเริ่มรุกเพื่อปลดปล่อยยุโรป เยอรมนีจึงตอบโต้โดยการรุกด้วยรถถังครั้งใหญ่ที่สุดในกลางเดือนธันวาคม และนำไปสู่ยุทธการที่บัลจ์ (Battle of the Bulge ๑๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ - ๑๖ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๕)* หรือการรุกรบที่ป่าอาร์แดน (Ardannes Offensive)* แต่ประสบความสำเร็จไม่มากนัก ในต้น ค.ศ. ๑๙๔๕ กองทหารแดงเริ่มโหมบุกหนักตลอดแนวรบโซเวียต-เยอรมันและในฤดูใบไม้ผลิปีเดียวกันก็สามารถยึดปรัสเซียตะวันออกไร้ได้ตลอดจนปลดปล่อยโปแลนด์และฮังการี จากนั้นก็เคลื่อนกำลังเข้าสู่กรุงเวียนนาจนถึงทางตรงเข้ากรุงเบอร์ลิน ฮิตเลอร์ซึ่งตระหนักว่าเยอรมนีจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้จึงออกกฤษฎีกาเนโร (Nero Decree) เพื่อให้ทำลายล้างเยอรมนีและดินแดนที่เยอรมนียึดครองให้พินาศแต่อัลแบร์ท ชเปร์ (Albert Speer)* รัฐมนตรีสรรพาวุธแห่งไรค์ (Reich Minister of Armament) ขัดขวางแผนดังกล่าวทุกวิถีทาง ทั้งปฏิเสธที่จะทำลายอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ที่ฝ่ายพันธมิตรกำลังจะรุกมาถึง

 ในครึ่งหลังของเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕ กองทัพแดงได้เริ่มการรุกครั้งสุดท้าย ในขณะเดียวกันกองกำลังฝ่ายพันธมิตรก็รุกคืบหนำมาจากทางตะวันตกเข้าถึงใจกลางเยอรมนีได้สำเร็จ ในช่วงเวลาที่ฝ่ายพันธมิตรเคลื่อนกำลังเข้าสู่เยอรมนี พวกเขาได้เห็นภาพชะตากรรมอันสยดสยองของชาวยิวและศัตรูของระบอบนาซีในค่ายกักกันกว่า ๑,๕๐๐ แห่งทั่วเยอรมนีซึ่งไม่อาจคาดได้ว่ามีผู้เสียชีวิต มากน้อยเพียงใดในค่ายกักกัน ฝ่ายพันธมิตรได้บังคับให้ชาวเยอรมันทุกเพศทุกวัยที่อาศัยอยู่ใกล้บริเวณค่ายกักกันเข้าไปดูสภาพอันน่าสะพรึงกลัวในค่ายและบังคับให้ฝังซากศพชาวยิวที่ถูกทิ้งไว้ด้วย การรุกของฝ่ายพันธมิตรได้นำไปสู่ยุทธการที่เบอร์ลิน (Battle of Berlin ๑๖ เมษายน-๒ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕)* ต่อมาในวันที่ ๒๕ เมษายนทหารโซเวียตก็ยาตราเข้าสู่กรุงเบอร์ลิน หลังการต้านทานอย่างดุเดือด กองทหารเยอรมันในเบอร์ลินก็ยอมจำนนเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคมและฝ่ายพันธมิตรได้ชักธงชัยขึ้นเหนือตึกรัฐสภา ในการยุทธ์ที่เบอร์ลินครั้งนี้ฝ่ายโซเวียตสูญเสียทหาร ๘๑,๑๑๖ คน บาดเจ็บ ๒๘๐,๒๕๑ คน ส่วนเยอรมนีสูญเสียประมาณ ๙๒,๐๐๐ คน และถูกจับอีกกว่า ๔๗,๐๐๐ คน จอมพลเรือ คาร์ล เดอนิทซ์ (Karl Doenitz)* ผู้นำเยอรมนีคนใหม่ที่ฮิตเลอร์แต่งตั้งก่อนที่เขาจะกระทำอัตวินิบาตกรรมพร้อมกับเอวา เบรา (Eva Brau)* ด้วยการยิงตัวเองเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ได้ประกาศยอมแพ้สงครามเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม และในวันเดียวกันนั้นผู้แทนฝ่ายทหารเยอรมนีก็ลงนามในสัญญายอมแพ้ (Act of Surrender) ที่เมืองไรมส์ (Rheims) โดยปราศจากเงื่อนไข ข่าวการยอมแพ้ของเยอรมนีเป็นที่รับรู้กันในยุโรปในวันที่ ๘ พฤษภาคม ทั่วทั้งยุโรปเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะในยุโรป (Victory in Europe-V-E Day) อย่างยิ่งใหญ่ ส่วนสหภาพโซเวียตเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะในวันที่ ๙ พฤษภาคม สงครามในยุโรปจึงสิ้นสุดลงพร้อมกับการล่มสลายของจักรวรรดิไรด์ที่ ๓

 ความพ่ายแพ้ของเยอรมนีไม่ได้ทำให้สงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงทันที สงครามในแปซิฟิกหรือสงครามมหาเอเชียบูรพากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการรบ ตลอดช่วง ค.ศ. ๑๙๔๓ ฝ่ายพันธมิตรเริ่มรุกอย่างต่อเนื่องในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกใต้ และในต้น ค.ศ. ๑๙๔๔ ก็สามารถยึดฟิลิปปินส์คืนได้จากญี่ปุ่น ต่อมาในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕ กองทหารอเมริกันเริ่มยกพลขึ้นบกที่เกาะอิโวะจิมะ (Iwo Jima) ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางอากาศและอยู่ห่างจากกรุงโตเกียว ๑,๖๐๗ กิโลเมตร มีการต่อสู้อย่างดุเดือดรวม ๓๕ วันเต็ม จึงยึดครองได้ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ทหารอเมริกัน ๖ คน ได้ปักธงชาติสหรัฐฯ บนยอดเขาซูริบาชิ (Suribachi) ซึ่งในเวลาต่อมาภาพการยกธงเหนืออิโวะจิมะเป็นภาพ ประวัติศาสตร์เลื่องชื่อในสงครามที่แพร่หลายไปทั่วโลกและรู้จักกันว่า “Raising the Flag on Iwo Jima” ในวันที่ ๑ เมษายนมีการยกพลขึ้นบกที่เกาะโอกินะวะ (Okinawa) ญี่ปุ่นพยายามต่อต้านอย่างสุดกำลังและใช้นักบินคะมิกะเซะ (Kamikaze) ต่อสู้อย่างกล้าหาญ การรบจึงดุเดือดโชกเลือดเกือบ ๓ เดือน ในช่วงเวลาเดียวกันกองเรือดำนํ้าอเมริกันก็ประสบความสำเร็จในการปิดล้อมญี่ปุ่นทางทะเลไม่ให้เรือสินค้าของญี่ปุ่นที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านเข้าไปสู่ท่าเรือในญี่ปุ่นได้

 ในกลาง ค.ศ. ๑๙๔๕ สหรัฐอเมริกาซึ่งคิดค้นระเบิดปรมาณูได้ตัดสินใจใช้ระเบิดปรมาณูถล่มญี่ปุ่นเพื่อบังคับให้ยอมจำนนโดยปราศจากเงื่อนไข มีการทิ้งระเบิดปรมาณู ที่เมืองฮิโระชิมะ (Hiroshima) และเมืองนะงะซะกิ (Nagasaki) เมื่อวันที่ ๖ และ ๙ สิงหาคมตามลำดับ ซึ่งสร้างความหายนะและสูญเสียอย่างมหาศาลแก่ญี่ปุ่นหนึ่งวันก่อนการทิ้งระเบิดลูกที่ ๒ สหภาพโซเวียตเห็นเป็นโอกาสจึงประกาศสงครามกับญี่ปุ่นและต่อมากองทหารโซเวียตได้บุกเข้ายึดหมู่เกาะทางตอนเหนือของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่สงครามของสหภาพโซเวียตก็แทบจะไม่มีผลต่อสงครามในแปซิฟิกเท่าใดนักเพราะในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ญี่ปุ่นก็ยอมแพ้และจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ (Hirohito) มีพระราชดำรัสผ่านวิทยุกระจายเสียงลังให้กองทัพญี่ปุ่นวางอาวุธและให้ร่วมมือกับฝ่ายพันธมิตรในการรักษาระเบียบวินัยทางสังคม นับเป็นจักรพรรดิองค์แรกของญี่ปุ่นที่มีพระราชดำรัสต่อสาธารณชน และเป็นครั้งแรกที่ประชาชนได้ยินพระสุรเสียงของจักรพรรดิ ผู้คนทั่วโลกต่างเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ซึ่งถือเป็นวันแห่งชัยชนะต่อญี่ปุ่น (Victory over Japan-V-J Day) และนับเป็นการสิ้นสุดของสงครามแปซิฟิกและสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยรวม.



คำตั้ง
Second World War; World War II; W.W.II
คำเทียบ
สงครามโลกครั้งที่ ๒
คำสำคัญ
- กฎบัตรแอตแลนติก
- กติกาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
- กติกาฝรั่งเศส-โซเวียต
- กติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์น
- กติกาสัญญาป้องกันร่วมกัน
- กติกาสัญญาไม่รุกรานกัน
- กติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างโซเวียต-โปแลนด์
- กติกาสัญญาริบเบนทรอพ-โมโลตอฟ
- กลุ่มความตกลงอนุภาคี
- กองทัพแดง
- การแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย
- การถอนทัพที่ดันเคิร์ก
- การทำลายล้างเผ่าพันธุ์
- การประกันความมั่นคงร่วมกัน
- การประชุมที่กรุงมอสโก
- การประชุมที่ไคโร
- การประชุมที่ดัมบาร์ตันโอกส์
- การประชุมที่พอทสดัม
- การประชุมที่เมืองมิวนิก
- การประชุมที่เมืองสเตรซา
- การประชุมที่ยัลตา
- การประชุมลดกำลังอาวุธ
- การผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี
- การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก
- การรบในแอฟริกาตอนเหนือ
- การรุกรบที่ป่าอาร์แดน
- การสังหารหมู่ที่คะทิน
- เกอริง, แฮร์มันน์
- แกนร่วมโรม-เบอร์ลิน
- แกนร่วมโรม-เบอร์ลิน-โตเกียว
- โกล, ชาร์ล เดอ
- ขบวนการต่อต้านนาซี
- ขบวนการฝรั่งเศสเสรี
- ครุชชอฟ, นีกีตา
- ความตกลงมิวนิก
- ค่ายกักกัน
- ค่ายกักกันแรงงาน
- คำประกาศสเตรซา
- โคมินเทิร์น
- ไคเทิล, วิลเฮล์ม
- จูคอฟ, เกออร์กี
- ฉนวนโปแลนด์
- ชเปร์, อัลแบร์ท
- ชัคท์, ยัลมาร์
- ชุชนิกก์, คูร์ท ฟอน
- เชโกสโลวะเกีย
- เชมเบอร์เลน, เนวิลล์
- เชมเบอร์เลน, อาร์เทอร์ เนวิลล์
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- เชียโน, เคานต์กาเลียซโซ
- ซิโรวี, แยน
- ซูเดเทนลันด์
- โซเวียตยูเครน
- ไซลีเซีย
- เดอนิทซ์, จอมพลเรือ คาร์ล
- ตีโต
- นโยบายเอาใจอักษะประเทศ
- นอยรัท, คอนสแตนติน ฟอน
- บอลเชวิค
- บันทึกช่วยจำฮอสบัค
- เบเนช, เอดุอาร์ด
- เบรา, เอวา
- เบสซาราเบีย
- โบฮีเมีย
- ปฏิบัติการซีเชลชนิทท์
- ปฏิบัติการซีไลออน
- ปฏิบัติการบาร์บารอสซา
- ปฏิบัติการเวเซรือบุง
- ปฏิบัติการสีขาว
- ปฏิบัติการสีเขียว
- แผน ๔ ปี
- แผนมันชไตน์
- แผนวางระเบิดเดือนกรกฎาคม
- พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต
- พรรคซูเดเทน-เยอรมัน
- พรรคนาซี
- พรรคนาซีออสเตรีย
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พรรคอนุรักษนิยม
- พระราชบัญญัติราชการทหารแห่งชาติ
- พันธมิตรอันยิ่งใหญ่
- ฟรังโก, ฟรันซิสโก
- ฟือเรอร์
- มหาสงคราม
- มหาอำนาจพันธมิตร
- มหาอำนาจอักษะ
- มัคซีโมวิช, มัคซิม
- มันชไตน์, ฟริทซ์ เอริช ฟอน
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- โมโลตอฟ, เวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช
- ยมทูตสีขาว
- ยุทธการที่เกาะอังกฤษ
- ยุทธการที่นอร์มองดี
- ยุทธการที่นอร์เวย์
- ยุทธการที่บัลจ์
- ยุทธการที่เบอร์ลิน
- ยุทธการที่ฝรั่งเศส
- ยุทธการที่เมืองคุรสค์
- ยุทธการที่สตาลินกราด
- ยุทธนาวีมหาสมุทรแอตแลนติก
- ยูโกสลาเวีย
- ยูเครน
- รัฐบอลติก
- เรโน, ปอล
- โรมาเนีย
- ลัทธินาซี
- ลัทธิบอลเชวิค
- ลิทัวเนีย
- วันดี-เดย์
- วันแห่งชัยชนะในยุโรป
- สกอตแลนด์
- สแกนดิเนเวีย
- สงครามกลางเมืองสเปน
- สงครามแบบสายฟ้าแลบ
- สงครามปลอม
- สงครามฤดูหนาว
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามสายฟ้าแลบ
- สงครามอิตาลี-เอธิโอเปีย
- สนธิสัญญาแซงแชร์แมง
- สนธิสัญญาโลคาร์โน
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สภาไรค์ชตาก
- สภาแห่งรัฐ
- สโลวาเกีย
- สวิตเซอร์แลนด์
- สหประชาชาติ
- สัญญาสงบศึก
- สันนิบาตชาติ
- เอสโตเนีย
- เอสเอ
- เอสเอส
- ฮอจา, มิลาน
- ฮาชา, เอมิล
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- ฮูม, ดักลาส
- เฮสส์, รูดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1939-1945
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๘๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-